เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า Sukrit Terapanyarat ซึ่งเป็นอาสาสมัครโครงการ ChulaCov-19 วัคซีน mRNA สัญชาติไทยตัวแรกพัฒนาโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาโพสต์รีวิวอาการ ผลข้างเคียงหลังฉีด โดยระบุข้อความว่า

“ว่าด้วยประสิทธิภาพวัคซีน ChulaCOV-19 วัคซีน mRNA ตัวแรกของไทย ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ทางโครงการวิจัยไม่ได้มีการเปิดเผยเลขภูมิคุ้มกันของวัคซีนแก่ อสม. เพียงแต่บอกได้ว่ามันดีมาก ดังนั้น นี่จะเป็นการรีวิวและอธิบายจากประสบการณ์จริง เมื่อที่บ้านและออฟฟิศของผม ติดโควิดเกือบยกครัว แต่ “ผม” เป็นคนเดียวที่ไม่ติด

1. วัคซีน ChulaCOV ถูกพัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

2. วัคซีน ChulaCOV เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่มีพัฒนาและวิจัยต่อยอดจาก Moderna ดังนั้นประสิทธิภาพที่ออกมาจึงมั่นใจได้ว่าเทียบเท่า Pfizer และ Moderna หรืออาจจะดีกว่าสำหรับการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เพราะกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อไปหลังจากทดสอบกับ อสม. กลุ่มแรก

3. ผมได้รับวัคซีนขนาด 25 ไมโครกรัม (ใช้น้อยกว่า Pfizer) จำนวน 2 โด๊ส ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์

4. อาการและผลข้างเคียง:

[โด๊สแรก] วันที่ 24 มิ.ย. 64 – มีอาการปวดหัวและอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัดต่อเนื่องราว ๆ 2-3 วัน  ไม่มีไข้ และยังทำงานได้ปกติ

[โด๊สสอง] วันที่ 15 ก.ค. 64 – ปวดหัวหนักกว่าโด๊สแรก หลังจากฉีด 2 ชั่วโมง และถึงขั้นซมหลังฉีด 6 ชั่วโมง  มีไข้หรือตัวรุม ๆ  แต่ไข้ไม่สูง ปวดหัวตลอดทั้งคืน กว่าจะทุเลาลงก็คือวันที่สอง ซึ่งนอนซม รบกวนการทำงานแน่นอน หลังจากนั้นไข้หายในสองวัน  ส่วนอาการปวดหัวจะต่อเนื่องไปร่วม 3-4 วันเลยทีเดียว

5. หลังจากฉีดวัคซีนครบสองโด๊สได้ราวหนึ่งสัปดาห์  พ่อของผมเริ่มมีอาการป่วย ปวดหัว ไอ ส่วนพนักงานที่ออฟฟิศไปตรวจโควิด Rapid Antigen Test ผลปรากฏว่าติดโควิด จึงมีการตรวจกันทั้งบ้าน ผลลัพธ์ : พนักงานออฟฟิศติด 2 คน ไม่ติด 1 (ซึ่งคนที่บ้านของพนักงานติดเกือบยกครอบครัว) และพ่อของผม

6. เพื่อความแน่ใจ ทางโครงการวิจัยได้นัดให้ผมไปตรวจ RT-PCR อีกรอบ เพราะผมกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดผู้ป่วย ซึ่งผลออกมาว่า ผมไม่มีเชื้อโควิดจริงๆ

7. คุณพ่อมีอาการหนักสุด ส่วนพนักงานแทบไม่มีอาการ  ได้ทำการรักษาตามอาการแบบ Home Isolation  แยกบ้านกันอยู่

8. เหตุการณ์เหมือนจะไม่มีอะไร แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ อยู่ๆ อาการคุณพ่อก็ทรุดหนัก ไข้ขึ้นสูง SpO2 ลดลงต่อเนื่องจาก 95 เหลือ 92 ในตอนเย็น และเหลือ 89 ในตอนกลางคืน ไม่ค่อยมีสติและลำบากในการสื่อสาร

9. ด้วยความจำเป็นที่จะต้องหาโรงพยาบาลด่วน ซึ่งอย่างที่ทุกคนทราบคือ ทุกที่เตียงเต็ม แต่โชคดีที่ติดต่อโรงพยายาลสมุทรสาครได้ ถึงกระนั้น โรงพยาบาลก็ไม่มีรถฉุกเฉิน จำเป็นที่เราจะต้องขับรถไปเอง วันนั้น (29 ก.ค.) หลังจากเพิ่งตรวจ RT-PCR ในวันเดียวกัน ผมต้องใกล้ชิดคุณพ่อที่เป็นผู้ป่วยอีกครั้ง ครั้งนี้มีการสัมผัสและใกล้ชิดมาก แต่ด้วยความจำเป็นต้องพาไปโรงพยาบาล จึงไม่มีทางเลือก (อุปกรณ์ป้องกันมีเพียง หน้ากากอนามัยสองชั้น face shield และถุงมือยาง)

10. พ่อของผมโชคดีที่ห้อง ER มีเตียงว่าง ได้รับการรักษาและรับยาฟาวิทันที แม้จะยังไม่เคยตรวจ PCR มาก่อน  ก่อนจะได้แอดมิทที่โรงพยายาลสมุทรสาคร แม้จะเป็นผู้ป่วยนอก ซึ่งปัจจุบันอาการดีขึ้นมากแล้ว ย้ายไปโรงพยาบาลสนาม และใกล้จะได้กลับมารักษาตัวต่อที่บ้าน

11. ส่วนตัวผมเองยังมีนัดต้องไปเจาะเลือดเก็บตัวอย่างกับทางโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อวัดภูมิวัคซีนหลังฉีด 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากผมสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงประมาณ 12 วัน ไม่ได้มีอาการอะไร จึงได้ทำการ Rapid Antigen Test อีกครั้ง และผลก็ออกมาบอกว่า ผมไม่มีเชื้อ

อย่างที่เห็นก็คือว่า ผมผ่านการเสี่ยงติดเชื้อมาแล้วถึงสามครั้ง และตรวจสามรอบ

ครั้งที่ 1 – คือการทำงานในออฟฟิศ อยู่กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด ในช่วงที่เชื้อกำลังฟักตัวและไม่มีอาการ

ครั้งที่ 2 – หลังจากคนรอบข้างอาการเริ่มออก ผลจรวจออกมา เริ่มมีการให้พนักงาน WFH  แต่ก่อนหน้านั้น ผมเองยังคงต้องขับรถ ร่วมโดยสารกับผู้ที่ติดเชื้อทุกวัน

ครั้งที่ 3 – กลับมาสัมผัสผู้ป่วยโควิดโดยตรงอีกครั้ง หลังจาก distancing กันมานานสัปดาห์นึง

ปล. (แก้ไขเพิ่มเติม) มีปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงโควิดอีกคือ การต้องไปส่งของที่ไปรษณีย์ทุกวัน ก่อนที่ช่วงต้นเดือนทางเขตจะตรวจเชิงรุกแล้วพบว่า ปณ.บางขุนเทียน มีพนักงานไปรษณีย์ติดโควิด 60 คน จึงต้องปิด ปณ.ชั่วคราว ด้วยผลทดสอบนี้ น่าจะบ่งบอกได้ดีถึงประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA ได้ดีในระดับนึง และเป็นเหตุผลว่า ทำไมวัคซีน ChulaCOV น่าจะเป็นวัคซีนตัวความหวังของคนไทย

สำหรับคำถามว่า “คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนตัวนี้เมื่อใด” คำตอบก็คือ กว่าจะวิจัยพัฒนาและทดสอบกลับ อสม. กลุ่มสอง กลุ่มสามเสร็จ น่าจะช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565 เลยครับ ถึงกระนั้น ถ้ามันฉุกเฉินจริงๆ ไม่แน่ว่า อาจจะมีการใช้วัคซีนตัวนี้เป็น เข็มสาม ในช่วงปลายปี และที่สำคัญที่สุด  ถึงแม้จะได้วัคซีนที่ดีแล้วยังไง การ social distancing ก็ยังสำคัญ  เพราะผลลัพธ์ที่เกิดกับสหรัฐ ตอนนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ขอบคุณครับ”..

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : Sukrit Terapanyarat