เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบแผนการกู้เงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากมติ ครม. เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาได้อนุมัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 1.5 แสนล้านบาทเพื่อนำไปชำระหนี้

โดยรายละเอียดแบ่งเป็น 2 ส่วนทยอยกู้รวม 8 ครั้ง ส่วนแรกกู้ยืมวงเงิน 30,000 ล้านบาท ครั้งที่ 1-2 ตั้งแต่เดือน ธ.ค.65-ก.พ.66 และส่วนที่ 2 กู้ยืม 1.2 แสนล้านบาท ครั้งที่ 3-8 ทยอยดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค.66 จนครบ 1.5 แสนล้านบาท

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบันติดลบ 1.25 แสนล้านบาท และแนวโน้มเหตุการณ์ปัจจุบันยังมีวิกฤติน้ำมันเชื้อเพลิงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ และอาจรุนแรงเพิ่มเติมได้ คาดการณ์จากนี้ไปตั้งแต่ พ.ย.-ก.พ.66 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเข้าฤดูหนาว อาจทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกสูง และผันผวน อาจกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ กองทุนฯ จึงยังมีความจำเป็นรักษาเสถียรภาพ และรักษาราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับเหมาะสม

ทั้งนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯมีรายจ่าย 222 ล้านบาทต่อวัน หรือคิดเป็นรายเดือน 6,882 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องอุดหนุนกองทุนน้ำมันฯ เพื่อยังสามารถลดภาระให้กับประชาชนได้อยู่ และให้ความช่วยเหลือด้านราคาน้ำมัน ไม่ให้กระทบราคาสินค้า เงินเฟ้อ โดยรัฐบาลเข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างดี และยืนยันมติ ครม. ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการกู้เงินใหม่ แต่ในครั้งนี้เห็นชอบแผนรายละเอียดที่เคยอนุมัติไปแล้ว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า มติ ครม. เมื่อเดือน ก.ย. ได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุน และกรอบวงเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. … และร่างพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. … โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ในส่วนแรกเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุน และกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่ออกเมื่อปี 64 โดยมีกรอบวงเงินที่เป็นเพดานเงินกู้ของกองทุนน้ำมันฯ ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท โดยแก้ไขเพดานการกู้เงินเป็นไม่เกิน 1.7 แสนล้านบาท

ขณะที่ส่วนที่ 2 คือ การแก้ไขกรอบวงเงินกู้ที่ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯจากเพดานการกู้เงินเดิม 20,000 ล้านบาท ให้แก้ไขเป็นสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับการออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท ในช่วงที่มีวิกฤติด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง