สืบเนื่องจากกรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ปลดนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากบริหารจัดการเรื่องยาเสพติดล้มเหลว ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ต.ค. นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า จากประเด็นทั้งหมด ตนขอชี้แจงว่ากรณีการแถลงจับกุมคีตามีนแต่กลายเป็นเกลือ กรณีดังกล่าวเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดสิ่งต้องสงสัยว่าเป็นยาเสพติดในโกดังที่ จ.ฉะเชิงเทราที่มีจำนวนมาก จะประสานให้สถาบันตรวจพิสูจน์ยาเสพติดของสำนักงาน ป.ป.ส. และพิสูจน์หลักฐานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ารวมเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจพิสูจน์เบื้องต้นด้วยชุดตรวจทดสอบคีตามีน ซึ่งผลตรวจพิสูจน์เบื้องต้นของทั้งสองหน่วยงานได้ผลตรวจพิสูจน์เป็นบวก ซึ่งแสดงว่าเป็นคีตามีน ประกอบกับคีตามีนที่ไต้หวันตรวจยึดได้นำมาจากที่โกดังในที่เกิดเหตุ มีการบรรจุถุงในลักษณะเดียวกัน ลักษณะทางกายภาพเหมือนกันกับคีตามีน จึงน่าเชื่อว่าเป็นคีตามีน

และในการแถลงข่าวก็แจ้งสื่อไปแล้วว่าเป็นแค่ผลตรวจเบื้องต้นเท่านั้น จะยืนยันผลชัดเจนว่าเป็นคีตามีนก็ต่อเมื่อนำตัวอย่างสารนี้ไปทดสอบในห้องตรวจพิสูจน์ โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ชั้นสูงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผลตรวจพิสูจน์พบว่าเป็นสารตัวอื่นแต่มีคีตามีนปะปนเล็กน้อยก็ได้แถลงข่าวไปตามข้อเท็จจริงและยังได้เก็บตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์อีกครั้ง ต่อมายังได้เชิญผู้แทน UNODC ร่วมเป็นสักขีพยานในการดำเนินการนำตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งปรากฏผลการตรวจยืนยันผลว่า พบคีตามีนจำนวนเล็กน้อย และก็ได้ทำการขยายผลจับกุมผู้ต้องหา 4 ราย และศาลออกหมายจับในข้อหาร่วมกันส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 (คีตามีน) ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่าไม่มีการสกัดกั้นสารตั้งต้นโซเดียมไซยาไนด์ที่นำมาเป็นส่วนผสมของยาเสพติดโดยการปล่อยลักลอบให้เข้าไปประเทศลาว ซึ่งในภาคเหนือมีการประสานไว้ว่าห้ามส่งออกสารไซยาไนด์ทำให้ทะลักไปทางภาคอีสาน ในกรณีนี้ โซเดียมไซยาไนด์เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผู้ที่จะนำเข้า-ส่งออก ได้ขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีใบอนุญาตถูกต้องจึงไม่สามารถจับกุมได้ เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติก็จะประสานกับประเทศปลายทางเพื่อขอตรวจสอบ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ทางสำนักงาน ป.ป.ส. ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหาแนวทางและมาตรการในการควบคุมไม่ให้นำสารดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด ที่ ป.ป.ส. ในวันที่ 31 ต.ค.นี้

การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาบ้าจำนวนหรือปริมาณเท่าใดที่จะให้ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ” นั้น ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นอำนาจหน้าที่ของรมว.สาธารณสุข ที่จะเป็นผู้ออกเป็นกฎกระทรวงของสาธารณสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. ไม่มีอำนาจในการออกประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด

ในส่วนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข การจัดตั้ง ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติดและสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข และจะต้องผ่านคณะอนุกรรมการจัดตั้งและควบคุมคุณภาพมาตรฐานศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมอนุญาตก่อน ไม่ใช่อำนาจของสำนักงานป.ป.ส.

ส่วนการขออนุมัติแจ้งข้อหาคดีสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น นายวิชัย อธิบายว่า ในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจพบการกระทำความผิดและดำเนินคดีฐานสมคบ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับหมายจับจากศาลแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำหมายจับนั้นไปดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ทันที ไม่ได้มีปัญหาหรือต้องรอขออนุมัติสมคบโดยในส่วนของการขออนุมัติแจ้งข้อหาก็ส่งมาที่เลขาธิการ ป.ป.ส. ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาคำขออนุมัติฯ ซึ่งมีอธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานกลั่นกรองฯ และเสนอเลขาธิการป.ป.ส. ซึ่งจะลงนามในคำสั่งทันทีโดยด่วน จึงไม่มีปัญหาอะไรที่จะทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปอันเนื่องมาจากการขออนุมัติสมคบแต่อย่างใด

“การยึดอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น มีขั้นตอนและกระบวนการตั้งแต่การออกคำสั่งตรวจสอบทรัพย์สินและการยึดอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวเพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทำหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรอง โดยมีอธิบดีอัยการภาคแต่ละภาคเป็นประธาน และเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน เพื่อมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัด เสนอพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนฯ การยึดอายัดและตรวจสอบทรัพย์สิน มีขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการซึ่งต้องใช้เวลา ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่นี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่ในที่สุดทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ก็จะตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด” นายวิชัย กล่าว

การขออนุมัติแจ้งข้อหาคดีสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น ไม่ได้มีความล่าช้าเมื่อศาลออกหมายจับข้อหาร่วมกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว สามารถที่จะจับกุมตัวผู้ต้องหาและยึดทรัพย์สินได้ทันที ไม่ต้องรอเลขาออกคำสั่งสมคบแล้ว การแจ้งข้อหาสมคบกันกระทำความผิดต้องมาขอหลังจากที่ศาลออกหมายจับแล้ว ซึ่งมาขอภายหลังที่จับกุมและยึดทรัพย์สินไปแล้วก็ได้

“งบประมาณบูรณาการด้านยาเสพติด แต่ละหน่วยจะได้รับงบประมาณโดยตรงไปที่หน่วยเอง โดยผ่านสำนักงานป.ป.ส. ในฐานะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการบูรณาการงบประมาณ เพื่อเสนอให้ประธานคณะกรรมการบูรณาการงบประมาณ โดยการที่แต่ละหน่วยงานจะได้งบประมาณเท่าไร ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการพิจารณางบประมาณด้วย” นายวิชัย กล่าวปิดท้าย.