ท่ามกลางบริบทที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าไปสู่ภารกิจสำคัญอย่างการ เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเอเปค ที่จะมีผู้นำจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. นี้ แต่โมเมนตัมทางกลางเมืองที่คอการเมืองมุ่งความสนใจที่สุด กลับเป็นช่วงเวลาหลังการประชุมเอเปค ท่ามกลางโจทย์ยุบสภาที่ถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้อำนาจในการยุบสภาจะอยู่ในมือของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพียงผู้เดียว แต่การยุบสภาหลายต่อหลายครั้ง มักจะมีปัจจัยแวดล้อมอื่นเข้ามามีส่วนสำคัญเสมอ

ทั้งนี้แนวทางยุบสภาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ การยุบสภาในช่วงหลังจบการประชุมเอเปค ไปจนถึงช่วงเวลาก่อนวันที่ 24 ธ.ค. 2565 ซึ่งถูกมองว่าเป็น “ระยะปลอดภัย” สำหรับคนการเมืองที่ต้องการย้ายไปลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้สังกัดพรรคใหม่ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

เนื่องจากคุณสมบัติผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งถูกกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาสังกัดพรรคไว้ใน 2 กรณี คือ กรณีสภาอยู่ครบวาระ โดยรัฐบาลอยู่ลากยาวไปจนถึงวันที่ 24 มี.ค. 2566 นั้น รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดกรอบเวลาจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในเวลา 45 วัน โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ส่วนกรณียุบสภาก่อนครบวาระ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดกรอบเวลาจัดการเลือกตั้งทั่วไป ภายในเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียวนั้น ถูกลดเวลาเหลือ 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ส่วนอีกแนวทางที่ถูกคาดการณ์คือ การยุบสภาในช่วงใกล้ครบวาระ โดยที่รัฐบาลอยู่ลากยาวต่อไปหลังจากจบภารกิจประชุมเอเปค ยื้อระยะเวลาการอยู่ในอำนาจให้มากที่สุด เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งอาจจะอยู่ไปจนเลยช่วง “ระยะปลอดภัย” ภายใต้กรอบเวลา 90 วัน เพื่อเป็นการเช็กสัญญาณและทิศทางความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง นักการเมือง ในการเตรียมการเลือกตั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจยุบสภา หรือลากยาวไปจนสภาวการณ์ทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มตึงเครียด จากนโยบายบางอย่างที่ขัดแย้งกัน หรือการถูกกดดันให้ ปรับ ครม. ซึ่งหากสภาวการณ์การเมืองรุมเร้าจนรัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ถึงใช้ช่องทางยุบสภาเพื่อล้างกระดานอำนาจ

อีกแนวทางที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุด แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ คือ รัฐบาลอยู่ลากยาวจนครบวาระ ในวันที่ 24 มี.ค. 2566 โดยไม่มีการยุบสภา ทั้งนี้เพื่อยื้อระยะเวลาการอยู่ในอำนาจให้มากที่สุด เพราะตราบใดที่ “บิ๊กตู่” ยังนั่งเก้าอี้นายกฯ ก็ยังถือไพ่เหนือกว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองคนอื่น ดังนั้นอาจจะเป็นช่วงโอกาสทองที่จะเรียกเรตติ้ง ฟื้นแรงศรัทธาจากประชาชน ขณะที่พรรคการเมืองและนักการเมือง กำลังวุ่นอยู่กับการย้ายพรรคและการเตรียมตัวเลือกตั้ง และหากในกรณีที่ “บิ๊กตู่” เลือกที่จะลงจากอำนาจ แนวทางนี้ก็น่าจะเป็นการลงที่สง่างามมากกว่าปิดฉากเส้นทางการเมืองด้วยการยุบสภา

ขณะเดียวกันก็ยังคงจะต้องจับตาความเคลื่อนไหวของ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้ง 2 คน จะยังจับมือไปด้วยกัน หรือจะแยกกันเดินคนละทาง เพราะในช่วงที่ผ่านมา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยังคงถูกมองในภาพลักษณ์คู่แข่งบารมีการเมืองกับ “บิ๊กตู่” มากกว่าที่จะเป็นภาพลักษณ์พี่ชายที่แสนดี ขณะที่ “บิ๊กตู่” เอง ก็ยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือสำหรับทิศทางการเมืองในอนาคต และเลือกที่จะเล่นบทนิ่ง ลอยตัวเหนือการเมือง จนถูกมองว่ากำลังเล่นเกม “แยกปลาออกจากน้ำ” รอดูทิศทางของพรรคการเมือง นักการเมืองกลุ่มต่างๆ ในสภาวะที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่า “บิ๊กตู่” จะเลือกไปทางไหน

ซึ่งงานนี้ นอกจากเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับพรรคการเมือง นักการเมืองแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับ “บิ๊กตู่” ด้วย เพราะหากตัดสินใจผิดพลาด เลือกผิดพรรค ฝากอนาคตไว้ผิดคน สุดท้ายอาจจะถูกโดดเดี่ยวทางการเมือง

ส่วนความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ยังคงต้องเผชิญกับปมร้อนจากกรณี ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … ที่มีการให้สิทธิคนต่างชาติ 4 กลุ่ม ถือครองที่ดิน เพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ภายใต้เงื่อนไขต้องมีจำนวนเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี ที่กำลังกลายเป็นประเด็น “ล่อเป้าการเมือง” ก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากถูกกระแสส่วนใหญ่มองว่า เป็นการ “ขายชาติ” จนถูกรุมถล่มจากทุกทิศทาง ทั้งคนรักและคนชัง

แม้งานนี้ “บิ๊กตู่” จะชี้แจงว่า ขั้นตอนยังอยู่ที่กฤษฎีกา และต้องรับฟังความเห็นจากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง แต่จากประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำเอารัฐบาลเสียรังวัดทางการเมืองไปไม่น้อย

ปรับโฟกัสมาที่สภา เรียกได้ว่าร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยหลังเปิดสภามา ก็เจอเกมร้อนหักเหลี่ยมเฉือนคมกันให้เห็น จนพูดได้เลยว่า ประมาทไม่ได้กับรัฐบาลชุดนี้ ที่เล่นเกมชิงตัดหน้าพรรคก้าวไกล ด้วยการประกาศ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 คลายล็อกการผลิตสุราพื้นบ้าน ปาดหน้าพรรคก้าวไกล ที่ผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต หรือ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เข้าสภา จนส่งผลให้ถูกคว่ำกฎหมายกลางสภาในที่สุด ซึ่งทำเอาคนพรรคก้าวไกล ถึงกลับออกมายอมรับเลยว่า เสียเหลี่ยมผู้เฒ่าในทำเนียบ

แต่จากกรณีดังกล่าว ก็ทำให้เกิดภาพการจับมือของฝ่ายค้าน จากประเด็นสนับสนุน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ระหว่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ประกาศผลักดันสุราก้าวหน้าให้สำเร็จ หากได้เป็นฝ่ายรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่

นอกจากนั้นเรื่องที่กำลังจะร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง และน่ากังวลสำหรับรัฐบาลคือ ปัญหารอยร้าวพรรคร่วมรัฐบาล จากแผลเก่า เรื่อง ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ….  ที่จ่อเข้าสู่การพิจารณาในสภาอีกครั้ง ภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ทันที่จะถึงวาระพิจารณาก็ส่อแววร้อนระอุ เมื่อ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อีกจำนวนหนึ่ง ออกมาประกาศคว่ำกฎหมายดังกล่าว และขอให้ทบทวนนำกัญชากลับเข้าบัญชียาเสพติด

ทำเอาร้อนถึง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ชูนโยบายกัญชาเสรีมาตั้งแต่ต้น ต้องออกมาเดินหน้าชน ว่า เรื่องดังกล่าววิปรัฐบาลมีมติไปแล้ว ถ้ามีปัญหาเรื่องการร่วมรัฐบาลหรือปัญหาของพรรคร่วมเรื่องของมติ นายกฯ ก็คงต้องลงมาแก้ปัญหา พร้อมย้ำว่า “หากอยากจะให้กลับมาเป็นยาเสพติดอีกครั้ง คงต้องมานั่งเป็น รมว.สาธารณสุข ก่อน”

สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นภาพความชุลมุนระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐกลับเลือกเดินเกมยื้อเวลา โดย อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.พลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ได้ออกมาเสนอให้เลื่อน ร่าง พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. … ที่ ครม. เสนอขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องด่วนในวันที่ 9 พ.ย. ซึ่งส่งผลทำให้ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … อาจไม่สามารถพิจารณาสภาได้ทันสัปดาห์หน้า

จากรอยร้าวที่บาดลึกความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลไปมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางเกมยื้อของเตะถ่วง ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … อาจจะเป็นการเร่งปฏิกิริยาให้ “รัฐบาลเรือเหล็ก” อับปางได้เร็วยิ่งขึ้น!

ขณะที่ความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ฤกษ์ขยับ โดย “บิ๊กป้อม” ได้ออกมาประกาศนโยบาย 3 พันธกิจหลักของพรรค ต่อยอดนโยบายรัฐบาล ชูเป็นนโยบายเรือธงในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ด้านพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีภาพของการทะเลาะกันภายใน มีเลือดเก่าไหลออกเป็นระยะ แต่ก็มีการเดินหน้าเกิดตัวผู้สมัครในหลายพื้นที่ ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ก็ออกมายืนยันว่า พร้อมรบกับทุกพรรค ส่วนพรรคสร้างอนาคตไทย ที่นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรค ก็มีการลงพื้นที่เยาวราชเช็กเรตติ้ง พร้อมประกาศผลักดันเยาวราชให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน ตอกย้ำภาพของการเป็นกูรูด้านเศรษฐกิจ

สุดท้ายนี้…ใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว แม้รัฐบาลเตรียมจัดของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน แต่ความเดือดร้อนจากหลายปัญหาทำเอาประชาชนยิ้มไม่ออก ดังนั้นหากจะถามถึง “ของขวัญที่ประชาชนอยากได้” อาจจะการขอให้ “บิ๊กตู่” ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพื่อเปิดทางให้คนใหม่ คนเก่ง คนดี เข้ามาบริหารประเทศ สร้างความหวังให้กับประชาชนแทน.