เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีมีหญิงสาวรายหนึ่ง ทำคอนเทนต์ท้าลองเมนูสุดสยองรับประทานค้างคาว ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่าอาจจะเกิดโรคระบาดแปลกๆ ว่า การเข้าป่าไปหาของแปลก สัตว์แปลกมารับประทานนั้นมีอันตรายแน่นอน โดยสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติเป็นแหล่งรังโรคที่มนุษย์ยังไม่เคยสัมผัส บางชนิดสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้ โดยเฉพาะค้างคาวที่มีไวรัสเยอะมาก เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีโบลา (Ebola) ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ รวมถึงไวรัสโคโรนา (Corona virus) ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 และไวรัสอีกหลายชนิด จึงไม่ควรไปสัมผัสกับค้างคาว โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งมีแหล่งอาหารเต็มไปหมด จึงไม่ควรไปยุ่งกับสัตว์ป่า

“สัตว์รังโรคมักไม่แสดงอาการป่วย เราจึงไม่แนะนำให้กินสัตว์ป่าทุกชนิด เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตั้งแต่ขั้นตอนการเข้า ไปจับอย่างค้างคาวที่อยู่ในถ้ำ เป็นระบบปิด อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ขับถ่ายอยู่ถ้ำ ก็มีโอกาสสัมผัสเชื้อได้ เพราะเจอว่า มีเชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ในปัสสาวะค้างคาว แต่ยังไม่กระโดดมาคน แต่วันหนึ่งถ้าไวรัสเก่งขึ้น ก็กระโดดมาคนได้ ที่ผ่านมา มีรายงานพบเชื้อโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ทำให้เกิดเชื้อราในคนที่เข้าไปในถ้ำค้างคาว เกิดภาวะปอดอักเสบ ส่วนก่อนจะนำค้างคาวมาปรุงสุกต้องผ่านขั้นตอน เช่น ถลกเนื้อ ล้างเนื้อ ซึ่งมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาว” ผศ.นพ.โอภาส กล่าว

ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มากว่า 10 ปีสำรวจสัตว์ป่า ดูว่ามีโอกาสเกิดเชื้อไวรัส หรือโรคอะไรที่กระโดดมาคนหรือไม่ รวมถึงมีการสำรวจค้างคาวในประเทศไทยพบว่าเชื้อคล้ายกับไวรัสซาร์ส โคโรนา (Sars-CoV) แต่ยังไม่กระโดดจากสัตว์มาคน แต่หากวันหนึ่งที่ไวรัสพร้อมก็อาจทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้น ก็จะมีความเสี่ยง ซึ่งจริงๆ พบได้มาก เช่นที่ประเทศลาว มีรายงานใกล้เคียงกับไทย

ถามต่อว่า มีคำแนะนำผู้ที่ทำคอนเทนต์เช่นนี้อย่างไร ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า แนะนำว่าไม่ควรทำ เพราะมีโอกาสจะที่ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ขนาดนักวิจัยที่ไปเก็บตัวอย่างสัตว์ป่า ยังต้องสวมชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งคนทั่วไปแทบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเลยฉะนั้น ก็เสี่ยงอันตรายได้ รวมถึงการกินอาหารไม่สุกก็มีโอกาสติดเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรียและไวรัส

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนว่าไม่ควรรับประทานค้างคาว เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าที่มีลักษณะการบินสูง มีระบบโซนาร์ป้องกันไม่ให้คนหรือสิ่งอื่นๆ เข้าใกล้ ดังนั้นจึงจับตัวได้ยาก หากสามารถจับได้ง่าย อาจแสดงว่าค้างคาวตัวนั้นป่วย ทำให้เกิดการติดเชื้อเหมือนกับการติดไข้หวัดนก คือไม่ได้ติดจากการรับประทาน แต่ติดจากการสัมผัส ขั้นตอนการปรุง จับ ถอนขน สัมผัสสารคัดหลั่ง เสี่ยงได้รับเชื้อไวรัส แบคทีเรียซึ่งเชื้อที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในค้างคาวคือ นิปาห์ไวรัส (Nipah) รองลงมา โคโรนาไวรัส ทั้งนี้เชื้อนิปาห์ไวรัสนั้น เคยมีการติดเชื้อและเสียชีวิตที่ประเทศมาเลเซีย โดยค้างคาวไปแพร่เชื้อในหมู และคนติดเชื้อจากหมู เนื่องจากหมูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายกับคน

“ดังนั้นไม่จำเป็นอย่าไปรับประทาน ทานอย่างอื่นดีกว่า เพราะปกติลำพังมูลค้างคาวก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้” ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าว.

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช”