สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่า เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา อินโดนีเซียสั่งห้ามการจำหน่ายยาน้ำเชื่อมชั่วคราว หลังพบส่วนผสมของเอทิลีนไกลคอล และไดเอทิลีนไกลคอล ในผลิตภัณฑ์บางอย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เป็นไปได้ต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของเด็ก เนื่องจากมันสามารถเป็นพิษ และทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้

นางเพนนี เค ลูคิโต หัวหน้าของบีพีโอเอ็ม กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า บริษัทพีที ซัมโค ฟาร์มา และบริษัทพีที ซิวบรอส ฟาร์มา มีการใช้เอทิลีนไกลคอล และไดเอทิลีนไกลคอล ปริมาณมากในยาของพวกเขา ซึ่งบีพีโอเอ็มทำการเพิกถอนใบอนุญาตการผลิตเป็นการชั่วคราว พร้อมกับสั่งให้ทั้งสองบริษัทเรียกคืนผลิตภัณฑ์ และทำลายชุดยาที่เหลือ

อย่างไรก็ตาม บริษัทพีที ซัมโค ฟาร์มา และบริษัทพีที ซิวบรอส ฟาร์มา ยังไม่แสดงความเห็นตอบกลับแต่อย่างใด

ลูคิโต กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางการอินโดนีเซียกำลังตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบและกระบวนการคัดกรอง เพื่อทำความเข้าใจว่า ส่วนผสมในปริมาณมากเกินเกณฑ์ที่กำหนด เข้าไปอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บีพีโอเอ็มเพิกถอนใบอนุญาตการจัดจำหน่ายของบริษัทผลิตยาแห่งอื่นอีก 3 แห่ง โดยทางหน่วยงานระบุว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีเอทิลีนไกลคอล และไดเอทิลีนไกลคอล ปริมาณมาก

อนึ่ง อินโดนีเซียกำลังสืบสวนการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น โดยปรึกษาหารือกับองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) หลังเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในแกมเบีย ซึ่งผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย มีความเกี่ยวข้องกับยาน้ำเชื่อมที่ผลิตและส่งออกจากบริษัทไมเดน ฟาร์มาซูติคอลส์ ของอินเดีย.

เครดิตภาพ : REUTERS