กำลังจะเปิดฉากขึ้นแล้ว สำหรับสัปดาห์การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.นี้ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีประเทศสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุม ท่ามกลางผู้นำคนสำคัญของโลก ทั้ง นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นาย ฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้

การจัดประชุมเอเปคในครั้งนี้จะกลายเป็นเวทีสำคัญในการเชิดหน้าชูตาประเทศไทยในเวทีโลก ครั้งแรกหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ว่าเป็นประเทศที่รับมือโควิด-19ได้ดีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก สวนทางกับสถานการณ์การเมืองไทย ที่ออกอาการลุ่มๆดอนๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

โดยการเมืองในช่วงนี้เรียกได้ว่า “ฮอตปรอทแตก” กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะการขับเคี่ยวกันของ 2 ลุง ที่แข่งกันเช็กชื่อจนฝุ่นตลบ ซึ่งล่าสุดกลายเป็นประเด็นร้อน จากคำพูดของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกแอ๊คชั่นไล่ตะเพิด ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ ที่คิดจะย้ายพรรค หาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตัดสินใจย้ายพรรคเปลี่ยนนั่งร้านอำนาจ ด้วยคำพูดแรงๆว่า “ไปเลย” ผมไม่ว่าใครทั้งนั้น ใครอยากไปไหน ก็ไป ทั้งนี้จากอากัปกิริยาดังกล่าวก็ทำให้เห็นถึงรอยร้าวระหว่าง “พี่ป้อม-น้องตู่” ได้มากยิ่งขึ้น

บริบทการเมืองในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการ “ตกผลึก” ก่อนที่จะชี้ชัดถึงการเดินหน้าสู่สนามเลือกตั้ง โดย “บิ๊กตู่” ขีดเส้นตายว่าจะให้คำตอบหลังการประชุมเอเปค ดังนั้นหลังจากนี้ก็จะเข้าสู่ช่วงที่จะต้องจับตาถึงความชัดเจนบนเส้นทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ จนถึงช่วงเปิดสนามเลือกตั้ง

แต่ระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจน ประเด็นร้อนแรงที่เห็นได้ชัดตอนนี้คือ กระแสข่าวลือ “บิ๊กตู่” ทิ้งพรรคพลังประชารัฐ โดยล่าสุดมีการปรากฏตัวคู่กับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เดินขนาบข้างภายในทำเนียบรัฐบาล ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักความน่าจะเป็นมากยิ่งขึ้น แถมยังสอดรับกับการแต่งตั้ง ไตรรงค์ สุวรรณคีรี นั่งตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หลังลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ จ่อซบพรรครวมไทยสร้างชาติ

จากสัญญาณเหล่านี้ ก็ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติกลายมาเป็น “ตัวแปรการเมือง” ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยช่วงที่ผ่านมามีบรรดา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทยอยลาออกจนเรียกได้ว่าเลือดไหลไม่หยุด ก่อนแห่เข้าสังกัดภายใต้แบนด์พรรครวมไทยสร้างชาติ จนกลายเป็นเสมือนพรรคประชาธิปัตย์ 2 ไปแล้ว จนทำเอา ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์  ถึงกลับต้องออกมาโวยว่า พรรคใหม่กำลังล่าเหยื่อดูดคนพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้สำหรับบริบทของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เป้าหมายอยู่ที่พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็คงจะได้เห็นการซัดกันเองของอดีตคนพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และหากท้ายที่สุดแล้ว “บิ๊กตู่” ตัดสินใจโยกย้ายนั่งร้านอำนาจไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติจริงตามกระแสข่าวลือ ก็ยังส่อแววจะเกิดปัญหาความทับซ้อนของ ส.ส. ระหว่างกลุ่มที่ถูกวางตัวไว้เบื้องต้นแล้ว กับบรรดา ส.ส.กลุ่มก๊วนของ “บิ๊กตู่” ที่จะตบเท้าย้ายสำมะโนครัวตามเข้ามาร่วมเสริมทัพ ซึ่งก็อาจจะเกิดการปีนเกลียววัดกำลังแย่งพื้นที่ลงสู่ศึกเลือกตั้งกันอีกหลายยก ก่อนที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะเริ่มสานฝันนำพา “บิ๊กตู่” ไปถึงดวงดาวได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังคงต้องรอดูสัญญาณกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าภายในวันที่ 21 พ.ย. จะมีสัญญาณที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ภารกิจ “แยกดาวคนละดวง” ของ “พี่ป้อม-น้องตู่” เองก็ยังไม่มีความชัดเจน ว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นเกมแยกกันเดินรวมกันตี หรือจะเป็นการแยกกันเดินแล้วตีกันเอง! ซึ่งหลังจากนี้จะต้องคอยจับตากันแบบห้ามกะพริบตาโดยเด็ดขาด! เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวแว่วมาว่า ทั้ง “พี่ป้อม-น้องตู่” ต่างก็มีการเรียก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้ก๊วนของตัวเองมาสอบถามกันถึงอนาคตทางการเมือง โดย “พี่ป้อม” มีการโยนคำถามว่ายังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ขณะที่ “น้องตู่” ก็มีคำถามตรงๆ ว่า จะออกไปด้วยกันหรือไม่

อย่างไรก็ตามงานนี้มีคนใกล้ชิด “บิ๊กตู่” แอบกระซิบมาว่า มีพระเกจิที่ “บิ๊กตู่” นับถือทักมาว่า ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จะเป็นช่วงที่ดวงของ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” จะไม่ลงรอยกัน ถึงขั้นแตกกัน แต่ถึงที่สุดแล้วจะสามารถคลี่คลายปัญหากันไปได้เอง ซึ่งก็สอดคล้องกับโจทย์การเมืองในระยะยาวภายใต้บริบทปัจจุบัน ที่พอจะคาดการณ์ได้ไม่ยากเลยว่า หาก “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ยังรวมกันก็มีโอกาสอยู่ แต่หากแยกกันก็คงจะต้องรอวันตายคาสนามการเมืองไปด้วยกัน

ทั้งนี้สำหรับแนวทางการตัดสินใจของ “บิ๊กตู่” ในเบื้องต้น อาจจะยังไม่เลือกสังกัดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะยอมให้พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นผู้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยจะยังคงเล่นการเมืองแบบ “ลอยตัว” ในแบบที่ผ่านมา เพราะหากท้ายที่สุดแล้วพรรครวมไทยสร้างชาติพลาดท่าในการเลือกตั้ง “บิ๊กตู่” ก็จะไม่ต้องเสี่ยงเจ็บตัว

แต่ขณะเดียวกันก็ยังเต็มไปด้วยเสียงร่ำลือในแวดวงการเมือง ถึง “สูตรนายกฯ ตู่-หนู” ภายใต้การคาดการณ์ว่า “บิ๊กตู่” ทิ้งพรรคพลังประชารัฐ ไปซบพรรครวมไทยสร้างชาติ ภายใต้การดีลแบบลับๆ กับพรรคภูมิใจไทย โดยชูสูตร “นายกฯ คนละครึ่ง” โดยที่ “บิ๊กตู่” จะเป็นนายกฯก่อนขยักแรก 2 ปีตามวาระดำรงตำแหน่งที่เหลือ จากนั้นจะส่งไม้ต่อตำแหน่งนายกฯให้กับ “เสี่ยหนู” ดำรงตำแหน่งต่อขยักที่สอง อีกราว 2 ปี

และอีกสูตรคู่ขนานที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กันคือ “สูตรรัฐบาลเพื่อไทย-พลังประชารัฐ” ซึ่งจะเป็นเกมของ “บิ๊กป้อม” และพรรคพลังประชารัฐ หาก “บิ๊กตู่” ทิ้งพรรคพลังประชารัฐไปแล้ว ก็จะเข้าทางกับก่อนหน้านี้ที่ถูกโยนโจทย์ออกมา อย่างโมเดลพรรคเพื่อไทย-พรรคพลังประชารัฐ จับมือจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ด้วยตัวของ “บิ๊กป้อม” ที่มีคอนเนกชั่นที่ดีกับพรรคเพื่อไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับที่ผ่านมายังไม่มีการปฏิเสธถึงแนวทางการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหลังการเลือกตั้งหรือไม่

เลยทำให้เกิด“สูตรรัฐบาลเพื่อไทย-พลังประชารัฐ” ภายใต้สมการ 200 (เพื่อไทย)+50 (พลังประชารัฐ)+10 (พรรคอื่นๆ)+150 (ส.ว.) โดยชู “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ

นอกจากนี้ก็ยังจะต้องดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มก๊วนภายในพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นไปในทิศทางใด หลัง “บิ๊กตู่” มีท่าทีที่ชัดเจนแล้ว ทั้ง กลุ่มสามมิตร กลุ่มปากน้ำ กลุ่มโคราช กลุ่มเพชรบูรณ์ ซึ่งต้องรอดูว่าจะยังอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับแบรนด์พรรคพลังประชารัฐ หรือจะตีชิ่งเพื่อเอาตัวรอดในศึกเลือกตั้ง

ส่วนความเคลื่อนไหวของ พรรคเพื่อไทย ก็เรียกได้ว่าถูกแย่งซีนด้วยบรรยากาศชื่นมื่นของตระกูลชินวัตร ภายหลัง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ออกมาประกาศข่าวตั้งท้องลูกคนที่สอง และยังยืนยันพร้อมทำภารกิจสำคัญได้จนถึงวันเดินไปคลอดอย่างแน่นอน ขณะที่ตัวพ่อ อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ก็มีการออกมาปูดเรื่องการกว้านซื้อ ส.ส. ของพวก “ธนกิจการเมือง” ที่ตอนนี้สนนราคาพุ่งถึงหัวละ 80 ล้านบาท  เหมาะมากสำหรับพวกอยากเกษียณอายุทางการเมือง

และอีกพรรคการเมืองที่จะต้องจับตามองหลังจากนี้ คือ พรรคไทยสร้างไทย-พรรคสร้างอนาคตไทย ที่น่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ ว่าจะจับมือเป็นพันธมิตรสู้ศึกเลือกตั้งกันในรูปแบบไหน และจะกลายมาเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

ปรัโฟกัสจากความร้อนแรงในสนามการเมือง มาที่ความร้อนแรงในสภา ที่ยังคงเต็มไปด้วยประเด็นร้อน ท่ามกลางบรรยากาศล่มๆดอนๆ จากเหตุการณ์สภาล่มตั้งแต่เปิดสมัยประชุมได้เพียง 3 วันแรก โดยเรื่องที่จะต้องจับตาในสภาหลังจากนี้ หนีไม่พ้น ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. ซึ่งจ่อคิวรอพิจารณาอยู่ ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงที่จะถ่างรอยร้าวระหว่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ให้ร้าวลึกมากยิ่งขึ้นจนอาจจะกระทบกับความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล

และอีกประเด็นที่อาจจะเติมเชื้อไฟในสภา คือกรณี นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่ออกมาจุดพลุ เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองทุกกลุ่ม ทุกสี ยกเว้นโทษทุจริต คดีอาญารุนแรง และความผิดตาม มาตรา 112 ซึ่งงานนี้หากรัฐบาลเด้งรับจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ส่งท้ายวาระสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สุดท้ายแล้ว ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งรัฐบาลกำลังเฟ้นหาของขวัญมาแจกประชาชน เพื่อเรียกคะแนนนิยมทิ้งทวนครั้งสุดท้ายก่อนหมดวาระ ซึ่งสิ่งที่ต้องลุ้นหนักมากกว่าของขวัญคือ คะแนนนิยมที่ได้มาในช่วงโค้งสุดท้ายนี้จะเพียงพอเป็นเสบียงให้พรรคฝ่ายรัฐบาลเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้งหรือไม่.