สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ให้การต้อนรับประธานาธิบดีมิเกล ดิแอซ-การ์เนล ในโอกาสเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยผู้นำทั้งสองประเทศร่วมกันเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์ของ นายฟิเดล คาสโตร รัฐบุรุษแห่งคิวบาผู้ล่วงลับ ในเขตทางเหนือของกรุงมอสโกด้วย


ทั้งนี้ รัสเซียซึ่งเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกอย่างต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษ กำลังเผชิญกับมาตรการที่หนักหน่วงขึ้นอีก เนื่องจากสงครามในยูเครน รัฐบาลมอสโกจึงยกระดับความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจ กับกลุ่มประเทศซึ่งไม่เห็นด้วยกับท่าทีของตะวันตก และคิวบาคือหนึ่งในนั้น โดย ดิแอซ-การ์เนล กล่าวว่า ความขัดแย้งในยูเครนเป็นผลจาก “การขยายอิทธิพลอย่างก้าวร้าวประชิดพรมแดนรัสเซีย” ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) และสหรัฐซึ่งเป็นสมาชิกแกนนำ

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และประธานาธิบดีมิเกล ดิแอซ-การ์เนล ผู้นำคิวบา ร่วมกันเปิดอนุสาวรีย์ของนายฟิเดล คาสโตร ในกรุงมอสโก


ขณะเดียวกัน สงครามในยูเครนที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียตกต่ำถึงขีดสุดในรอบหลายทศวรรษ ทำให้หลายฝ่ายหวนนึกไปถึงช่วงเวลา “วิกฤติขีปนาวุธคิวบา” ซึ่งแม้แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ยังเคยเปรียบเทียบแบบนี้ อย่างไรก็ตาม นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า “บริบทเชิงลึกของสถานการณ์นั้นต่างกัน”


ย้อนกลับไประหว่างวันที่ 14 ต.ค. 2505-28 ต.ค. 2505 เป็นช่วงเวลาของสถานการณ์ตึงเครียดในยุคสงครามเย็น ที่เกือบกลายเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่สาม นั่นคือ “วิกฤติขีปนาวุธคิวบา” เมื่อคิวบาอนุญาตให้สหภาพโซเวียต เข้ามาติดตั้งระบบขีปนาวุธภายในประเทศตามข้อตกลงลับร่วมกัน โดยทิศทางการตั้งฐานยิงหันออกไปทางสหรัฐ สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งออกคำสั่งมาตรการปิดล้อมทางทะเลต่อคิวบาทันที


อย่างไรก็ดี สหรัฐเจรจาลับหลังกับรัฐบาลสหภาพโซเวียตของประธานาธิบดีนิกิตา ครุสชอฟ ด้วยในเวลาเดียวกัน ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง “สัญญาปากเปล่า” โดยสหรัฐสัญญาจะไม่รุกรานคิวบา พร้อมทั้งรื้อแท่นยิงขีปนาวุธในตุรกีและอิตาลี ขณะที่สหภาพโซเวียตรื้อแท่นยิงขีปนาวุธออกจากคิวบา.

เครดิตภาพ : REUTERS