นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ตนเป็นประธานเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ว่า กบง. ได้พิจารณามาตรการดูแลผลกระทบราคาพลังงานโดยมีมติทบทวนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน เพื่อลดผลกระทบต่อภาคประชาชนโดยขยายมาตรการตรึงราคา 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 65 โดยกำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแอลพีจี ที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อให้ราคาขายปลีกแอลพีจี อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กก. คงเดิม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1-31 ม.ค. 66  

“ราคาแอลพีจี ตลาดโลกยังคงผันผวน วันที่ 29 พ.ย. 65 อยู่ที่ 633.60 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตันราคานี้ เมื่อคิดเป็นราคาขายปลีกแอลพีจี ควรจะต้องไปอยู่ที่ 480 บาทต่อถัง 15 กก. แต่ไทยยังดูแลราคาให้อยู่ที่เพียง 408 บาทต่อถัง ผ่านกลไกการอุดหนุนโดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ บัญชีแอลพีจี ติดลบแล้ว 43,833 ล้านบาท ซึ่ง กบง. กำหนดให้ติดลบไว้ไม่เกิน 45,000 ล้านบาท เมื่อให้ตรึงราคาต่อ จึงมอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ไปบริหารจัดการต่อ ให้สอดคล้องกับแนวทางในครั้งนี้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว  

ขณะเดียวกัน กบง. ยังเห็นชอบแนวทางการดูแลราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) มีมติตามที่ บมจ.ปตท. เสนอขอขึ้นราคาขายปลีกเอ็นจีวี รถยนต์ทั่วไป 1 บาทต่อ กก. จาก 16.59 บาทต่อ กก. เป็น 17.59 บาทต่อ กก. จากต้นทุนที่แท้จริงซึ่งอยู่ที่ 29.51 บาทต่อ กก. มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 65 เป็นต้นไป และให้คงราคาดังกล่าวต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 16  ธ.ค. 65-วันที่ 15 มี.ค. 66 และขอความอนุเคราะห์ให้ ปตท. ต่อมาตรการโครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน ที่ช่วยเหลือรถแท็กซี่โดยให้คงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี สำหรับรถแท็กซี่ ไว้ที่ 13.62 บาทต่อ กก.เริ่ม 16 ธ.ค. 65-15 มี.ค. 66  ซึ่งการดูแลทั้ง 2 ส่วนคาดว่า ปตท. จะใช้เงินช่วยเหลือรวม 2,682 ล้านบาท  

นอกจากนี้ กบง. ยังขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตรเพื่อลดภาระประชาชน พร้อมเห็นชอบแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน ในช่วง ม.ค. 66-เม.ย. 66 เช่น มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม จัดหาก๊าซในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาค ปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งยังมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการยกเว้นการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉพาะปริมาณที่จำหน่ายเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการยกเลิกมาตรการการใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ในช่วงสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน เป็นต้น