นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า หลังจากเปิดจำหน่ายเอกสารการประกวดราคา (ประมูล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันมีผู้สนใจซื้อเอกสารประมูลแล้ว 8 ราย แบ่งเป็น บริษัทสัญชาติไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 ราย ทั้งนี้ จะเปิดจำหน่ายเอกสารฯ จนถึงวันที่ 7 ต.ค.64 ยื่นข้อเสนอวันที่ 8 ต.ค. คาดว่าใช้เวลาในการพิจารณาทั้ง 3 ซองแล้วเสร็จประมาณเดือน ธ.ค.64 และจะได้ผู้ชนะการประมูลทั้ง 6 สัญญาภายในเดือน ม.ค.65 ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีระยะทาง 23.6 กม. มีแผนเริ่มก่อสร้างปี 65 และเปิดบริการปี 70 โครงการนี้ลงนามข้อตกลงคุณธรรมแล้ว และดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส ตามกฎหมาย กฎระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และประกาศที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบได้

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเกณฑ์การประมูล โดยเฉพาะการกำหนดให้ใช้ผลงานที่เป็นหน่วยงานของรัฐภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งขอชี้แจงว่า การประมูลงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ผ่านมาของ รฟม. ใช้วิธีประกวดราคานานาชาติ ภายใต้ข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ขณะที่การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ใช้วิธีประกวดราคานานาชาติ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ทั้งนี้ การกําหนดให้ผู้รับจ้างต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทย เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ต้องออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ และสถานีใต้ดินในกรุงเทพฯ ซึ่งมีสภาพธรณีวิทยาที่มีคุณสมบัติเฉพาะสถานที่โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สําคัญ และโบราณสถานมากมาย จึงต้องการผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ผ่านการก่อสร้าง และประสานงานในโครงการก่อสร้างประเภทเดียวกันในประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าผลงานที่แล้วเสร็จ มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ในขณะที่การอ้างอิงผลงานต่างประเทศ จะตรวจสอบข้อมูลโครงการได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น ประเภทงาน มูลค่าผลงานที่แท้จริง คุณภาพของผลงานที่แล้วเสร็จ รวมถึงประเด็นปัญหาระหว่างการก่อสร้าง

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า การที่มีบริษัทต่างชาติ 2 รายสนใจซื้อซองประมูล แสดงให้เห็น และยืนยันว่า รฟม. ไม่ได้กีดกันบริษัทต่างชาติ และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีบริษัทต่างชาติที่สามารถเข้าร่วมประมูลโครงการนี้ได้ 7-8 บริษัท แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นการเข้าประมูลในลักษณะร่วมค้า(Joint venture) กับบริษัทไทย

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการกําหนดเกณฑ์ประเมินข้อเสนอในการประมูล โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในสัดส่วน 30:70 นั้น เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีแนวเส้นทางผ่านสถานที่สําคัญ และอ่อนไหวหลายแห่ง เช่น รัฐสภาแห่งใหม่ โรงพยาบาลวชิระ หอสมุดแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย วัดต่างๆ รวมถึงพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ จึงจําเป็นต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมในการออกแบบและก่อสร้างขั้นสูงจากผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และมีสมรรถนะสูงเพียงพอ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและสามารถดําเนินงานก่อสร้างให้สําเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน

นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐหลายโครงการ ที่ใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา เช่น โครงการงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover :APM) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารภายในสนามบินสุวรรณภูมิ, โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (โครงการทางด่วนสายแจ้งวัฒนะ – บางพูน – บางไทร) โครงการจ้างเหมาเอกชนกําจัดมูลฝอย โดยระบบเตาเผามูลฝอย ที่ศูนย์กําจัดมูลฝอยหนองแขมของ กทม. และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลําโพง – บางซื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงินรวม 8.23 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 7.73 หมื่นล้านบาท, ค่าก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1.33 พันล้านบาท และวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) 3.58 พันล้านบาท.