ศรษฐกิจไทย ปีเสือผ่านพ้นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องเจอกับโรคระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่อง และความไม่แน่นอนจากสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาพลังงาน ค่าครองชีพต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง มีผลกระทบลูกโซ่ต่อตลาดการเงิน ส่งผลให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า

สำหรับปี 2566 หรือปีกระต่ายนี้มีนักพยากรณ์เศรษฐกิจหลายสำนักได้ประเมินทิศทางว่ายังคงได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเสี่ยงชะลอตัวจนเข้าสู่ภาวะถดถอยนั่นเอง…จึงกระทบต่อการส่งออกไทยไม่น้อยเลยทีเดียว แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีพระเอกที่จะคอยสนับสนุนจากการฟื้นตัวด้านการการท่องเที่ยวก็ตาม

หยุดปีใหม่โกยรายได้

โดยวันหยุดยาวปีใหม่ที่รัฐบาลประกาศวันหยุดกรณีพิเศษ 1 วัน จนถึง 2 ม.ค.66 นั้น ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่าจะมีรายได้สู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องถึง 14,500 ล้านบาท คาดมีคนไทยเดินทางไปร่วมเคานท์ดาวน์ท่องเที่ยว รับประทานอาหารยังสถานที่ต่าง ๆ และยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา คาดต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยสร้างรายได้ช่วงปีใหม่ 15,500 ล้านบาท รวม 4 วัน ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ต่างชาติและคนไทยสร้างรายได้ท่องเที่ยวมากถึง 30,000 ล้านบาท คิดเป็น 50% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19

ภาคการท่องเที่ยวไทยในปีที่ผ่านมาเป็นพระเอกอย่างแท้จริง แม้เป็นแค่เครื่องยนต์หนึ่งในไม่กี่ตัวที่สามารถขับเคลื่อนนำพาเศรษฐกิจไทยปี 2566 ผ่านความยากลำบากไปได้อีกปี ซึ่งหลายต่อหลายนักเศรษฐศาสตร์ได้บอกว่าเป็นปีที่อาจเผาจริง!!! เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเจอความปั่นป่วนหลายด้าน จนเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย ทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมีมากกว่าที่ได้ประเมินไว้ได้

คาดการณ์จีดีพีโต 3.5%

มาดูว่าสำนักเศรษฐกิจทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยปีกระต่ายนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง? เริ่มจากสำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 66 ไว้ขยายตัว 3-4% ค่ากลาง 3.5% มาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ, การขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคในประเทศ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร แต่ในขณะที่การส่งออกอาจอยู่ที่ 1% เพราะพิษเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง

ด้านกระทรวงการคลัง คาดการณ์จีดีพีปีนี้ไว้ถึง 3.8% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ คาดขยายตัว 3.7% ซึ่งมีมุมมองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวชัดเจนการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิดแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้จะขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้จากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยคาดว่าจะขยายตัว 3.6% ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดจีดีพีจะขยายตัวได้ถึง 4% เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนกำลังลงทั่วโลก ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน

ปัจจัยบวกอุ้มเศรษฐกิจ

มุมมองจากสำนักฝั่งเอกชน เปิดปัจจัยบวกที่จะเข้ามาอุ้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 ซึ่งมีความเห็นทิศทางเดียวกัน ทั้งศูนย์วิจัยกสิกรไทย, กรุงไทย คอมพาส, ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ได้เชื่ออย่างมั่นใจว่าภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยการคาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาในไทยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ถือว่าครึ่งหนึ่งของช่วงสถานการณ์ปกติก่อนโควิดในช่วงปี 2562 และยังเฝ้าติดตามการเปิดประเทศของรัฐบาลจีน ที่จะเปิดประเทศให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ยิ่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากกว่านี้เพราะปกติชาวจีนเที่ยวไทยถือว่าเป็นอันดับต้น ๆ

นอกจากการท่องเที่ยวแล้วเศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงส่งจากการบริโภคเอกชน ในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศจากการอัดอั้นใช้จ่ายมาช่วงโควิด ทั้งจับจ่ายซื้อสินค้า การท่องเที่ยวบวกกับมีแรงจูงใจกระตุ้นการใช้จ่ายจากมาตรการภาครัฐ เช่น ช้อปดีมีคืนที่กระตุ้นการใช้จ่ายช่วงต้นปนี้ให้นำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการมาหักลดหย่อนภาษีได้มากถึง 40,000 บาท และยังมีช่วยค่าครองชีพจากการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลด 15% รวมถึงการลดค่าธรรมเนียม ค่าโอนที่อยู่อาศัยทำให้กลุ่มภาคอสังหาริมทรัพย์อาจได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องไปจนถึงภาคแรงงานได้ด้วย

6 ปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้ง

แต่ปัจจัยบวกสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปี 2566 ถ้าเทียบกับความเสี่ยงแล้วอาจต้องชั่งน้ำหนักเพราะปีนี้มีสารพัดปัจจัยที่จะมาฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย “สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย” ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 อาจเจอเผาจริง!! จากความเสี่ยง 6 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น 1.ปัญหาการรุกรานของรัสเซียในยูเครนที่ยืดเยื้อ จนกระทบห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารสัตว์ ปุ๋ยรวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ 2.ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้ลดลงในกรอบให้ได้จนเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยแรงกว่าคาด

3.จีนล็อกดาวน์ ในหลายพื้นที่ต่อเนื่องตามมาตรการซีโร่โควิดหากสถานการณ์ยืดเยื้อก็น่าจะกระทบอุปสงค์ในประเทศจีนโดยฉพาะต้องติดตามอสังหาริมทรัพย์จะมีปัญหาจนฟองสบู่แตกราคาที่ดินร่วงหรือไม่ เพราะซ้ำเติมปัญหาหนี้ที่สูงในภาคส่วนนี้

4.วิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูง เช่น อิตาลีหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจนนักลงทุนกังวลปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เช่นในอดีต น่ากระทบความเชื่อมั่นในสกุลเงินยูโร ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและกลับไปถือสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง

5.วิกฤติตลาดเกิดใหม่ หลายประเทศกำลังเจอความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะเมื่อเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเร็วจากรายจ่ายด้านน้ำมันและเงินโอนออกนอกประเทศ ขณะที่รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวหดหาย ปัญหานี้อาจขยายวงได้อีกครั้งหากนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นและดึงเงินลงทุนกลับค่าเงินจะอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว และอาจเจอปัญหาสภาพคล่องได้

ด้านสุดท้ายที่ 6.โควิดกลายพันธุ์ แพร่ได้เร็วหลบภูมิคุ้มกัน แม้อาการไม่รุนแรงแต่จะส่งผลให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขมีปัญหา รัฐบาลอาจต้องจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออาจกระทบความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะด้านท่องเที่ยว รวมทั้งกระทบภาคการผลิตซึ่งจะมีผลให้ห่วงโซ่อุปทานมีปัญหากระทบการส่งออกได้

แนวนโยบายเศรษฐกิจปี 2566

ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ภาครัฐจะบริหารนโยบายเศรษฐกิจปี 2566 อย่างไร โดย “สศช.” ได้วางแนวทางไว้ควรดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรโดยการฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 66/67, ส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีและสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ การติดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการค้าโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก

นอกจากนี้ ต้องพัฒนาสินค้าเกษตรอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า, การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มศักยภาพ, การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน, การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

พร้อมด้วยส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 63-65 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย, แก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจรวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต, ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย

ที่สำคัญคือต้องส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ, ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม, การติดตามเฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับเศรษฐกิจและการเงินโลกผันผวน และสุดท้ายการติดตามเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19

Business People Meeting Conference Seminar Sharing Strategy Concept

ความท้าทายเศรษฐกิจไทย

โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมุมมอง “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ประเมินความท้าทายระยะสั้นมีมากกว่าที่เคยประเมินไว้โดยระบุว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะมีความท้าทายจากความผันผวนไม่น้อยจะเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือจีน รอดูว่าจะเป็นอย่างไรกันต่อเงินเฟ้อก็ยังเป็นตัวกดดันการทำงานของธนาคารกลางทั้งโลก ตัวเลขเงินเฟ้อโลกไม่ได้ลงมาง่าย ๆ ทำให้หลายประเทศต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เร็วแรงและนานกว่าที่ตลาดคาดไว้

ผู้ว่าการแบงก์ชาติบอกถึงสิ่งที่ท้าทายมากกว่าคือเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งน่ากังวลกว่าเดิมจากสัญญาณต่าง ๆ ที่เริ่มเห็นกันบ้างแล้วว่าเกิดปัญหาลักษณะน้ำลดตอผุด จากเดิมที่สภาพคล่องเยอะดอกเบี้ยต่ำ ครั้งนี้ประเทศหลัก ๆ ขึ้นดอกเบี้ย (น้ำลด) เร็วกว่าที่คิดและก็เห็นตอหรือปัญหามากกว่าที่เคยประเมินไว้แต่ก็ไม่คิดว่าจะเกิดวิกฤติการเงินโลกขนาดปี 51 เพราะฝั่งสถาบันการเงินยังดูแข็งแรงดี แต่คราวนี้ปัญหาไปเกิดตรงจุดที่ไม่ได้คาดไว้เช่นตลาดพันธบัตรของสหราชอาณาจักรหรือในตลาดพันธบัตรของสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกมองว่าเป็นตลาดที่ใหญ่และปลอดภัยที่สุดสัญญาณเหล่านี้สะท้อนโอกาสที่จะเห็นการสะดุดในตลาด ถ้ามองในภาพรวมของโลกการฟื้นตัวจึงไม่ได้ราบรื่น

“เชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องคิดว่าปี 2566 จะโตมากกว่า 3% และสูงกว่าปีนี้ด้วยเพราะแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจยังมีปกติเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงการส่งออกก็จะชะลอลงด้วย แต่ตัวขับเคลื่อนคือการบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี อย่างรายได้ของคนไทยก็อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น และนักท่องเที่ยวก็กลับมามากกว่าที่คาดไว้ คนยังอยากเดินทางมาเที่ยวไทย เพราะประเทศไทยน่าเที่ยวค่าใช้จ่ายไม่แพง แม้อาจจะใช้จ่ายไม่มากเท่าเดิม แต่ก็ยังจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้บอกถึงโอกาสและความท้าทายในปี 66

สุดท้ายสิ่งที่ต้องติดตามคือความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะสถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน ค่อนข้างมีความท้าทาย ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงน่าจับตาว่าการที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงถดถอยแล้วส่งผล อย่างไรต่อประเทศไทย

แม้การท่องเที่ยวไทยที่จะเป็นพระเอกในปี 2566 ซึ่งฟื้นตัวได้ดีจะสามารถขับเคลื่อนและทนต่อแรงกดดันได้ไหวหรือไม่ท่ามกลางความเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้ามในปีที่ใครหลายคนบอกว่า เป็นปีของการเผาจริง!.