เมื่อวันที่ 7 ม.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณีสื่อมวลชนได้เดินทางติดตามการลงพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก” และมีการรายงานข่าวว่า นายกฯ ไม่พอใจที่ถูกถามเรื่องกรณี “ตู้ห่าว” นั้นว่า หากสื่อมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์คงจะเข้าใจตรงกันว่า นายกฯ หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามที่ผู้สื่อข่าวสอบถามประเด็นเรื่อง “ข้าวรักษ์โลก” ด้วยความที่นายกฯ คาดว่าสื่อมวลชนที่ร่วมติดตามลงพื้นที่ด้วยกันตั้งแต่เช้า ที่เดินทางถึงสิงห์บุรี และบริเวณจัดงาน น่าที่จะได้รับฟังในสิ่งที่นายกฯ ได้กล่าวกับเกษตรกรชาวนาที่มาร่วมงานทั้งหมดด้วยตัวเองไปพร้อมๆ กันแล้ว โดยไม่มีความจำเป็นที่นายกฯ จะต้องกล่าวซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากมีเนื้อหาสาระค่อนข้างมากที่ได้กล่าวไปแล้ว

ทั้งนี้ นายกฯ พร้อมที่จะตอบคำถามเพิ่มเติมจากสื่อ แต่มิใช่เป็นคำถามที่จะให้กล่าวถึงเรื่องกิจกรรมอีกครั้งทั้งหมด หลังจากนั้นนายกฯ จึงได้ขอตัวเพื่อเดินทางต่อ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่นายกฯ กำลังเดินเพื่อไปขึ้นรถ ได้มีผู้สื่อข่าวสอบถามประเด็นเรื่องคดี “ตู้ห่าว” ซึ่งในขณะนั้นนายกฯ ได้หยุดการให้สัมภาษณ์แล้ว และกำลังจะขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับ จึงจะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างใดกับคำถามเรื่องคดีที่สอบถามเลย จึงเรียนชี้แจงเพื่อทราบ

นายอนุชา เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยินดีที่ได้ทราบผลการสำรวจของเว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ซึ่งเปิดเผย Annual Global Retirement Index 2023 จัดอันดับประเทศที่ค่าครองชีพถูกและเหมาะสำหรับอาศัยอยู่หลังเกษียณ ในปี 66 โดยได้จัดอันดับให้ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย  (https://www1.internationalliving.com/sem/retirement/retirement-index/report/ppc.html?utm_source=blueshift)

“นายกฯ ยินดีที่ประเทศไทยยังคงเป็นจุดมุ่งหมายของชาวต่างชาติทั้งจากการมาท่องเที่ยว การมาอาศัยอยู่หลังเกษียณ โดยไทยมีธรรมชาติสวยงาม มีมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งเป็นที่น่าสนใจในหมู่ชาวต่างชาติ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว และแรงจูงใจสำหรับชาวต่างชาติให้เดินทางมาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายกฯ ยังขอบคุณไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณประชาชนทุกคนที่มีส่วนในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของชาวต่างชาติ และได้รับความสนใจจากทั่วโลกเรื่อยมา” นายอนุชา กล่าว

ทางด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากการดูแลสวัสดิการในทุกช่วงวัยแล้ว ยังมุ่งให้เด็กและเยาวชน ได้รับการศึกษาที่ดีมีมาตรฐาน ได้รับโอกาสทั่วถึง เท่าเทียมและทันสมัย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยปัตตานี นราธิวาส และยะลา ที่มีรายงานของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีอัตราส่วนเด็กยากจนที่ขัดสนด้านการเรียนรู้ ในช่วงอายุ 5-17 ปี มากที่สุดร้อยละ 7.21 พล.อ.ประยุทธ์ จึงเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วใน 6 โครงการ ดังนี้

1.หลักประกันการเข้าถึงโอกาสการศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และคงอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีจำนวนนักเรียนทุนเสมอภาค จำนวน 123,309 คน

2.โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสายอาชีพที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความต้องการแรงงานฝีมือใน 10 สาขาวิชาหลัก ให้แก่เยาวชนในพื้นที่ให้เข้าถึงการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. จำนวน 521 คน 

3.โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนยากจนหรือด้อยโอกาสที่มีศักยภาพสูงและมีใจรักอยากเป็นครู ได้ศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาตรีในคณะครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นชุมชนบ้านเกิด ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่อาจยุบหรือควบรวมได้ (Protected School) ในสังกัด สพฐ. ปัจจุบันมีนักศึกษาครูรักษ์ถิ่นรวม 3 รุ่น (ปีการศึกษา 63-64-65) เมื่อจบการศึกษาจะได้รับการบรรจุจำนวน 156 คน ในโรงเรียนปลายทาง 137 แห่ง 4.โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) กว่า 30 โรงเรียน ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ คุณภาพครู และการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่มีคุณภาพ โดยมีคุณครูเข้าร่วมพัฒนาแล้วจำนวน 725 คน และนักเรียนได้รับการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้จำนวน 8,503 คน

5.โครงการพัฒนาทักษะแรงงานขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมพัฒนาอาชีพ จำนวน 1,035 คน ผ่านการฝึกอบรมใน 11 หลักสูตรชุมชนเป็นฐาน

6.ยะลาโมเดล ต้นแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จัดตั้ง “สภาการศึกษาจังหวัด” และ “กองทุนเพื่อการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชนยะลา” รองรับกลุ่มเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาที่มีความพร้อมกลับเข้าเรียน ซึ่งในพื้นที่ของยะลา ไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาอีกแล้ว ทั้งนี้ สะท้อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และครอบคลุมในทุกมิติ โดยเชื่อมั่นว่า ผลสำเร็จของทั้ง 6 โครงการ จะช่วยยกระดับคุณภาพทางด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.