จากกรณี นายสุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ ‘เสี่ยคนขับเบนท์ลีย์’ ชนบนทางด่วน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ยังต้องติดตามกันต่อ เนื่องจากตอนนี้มีข้อมูลและประเด็นหลายอย่างที่ไม่ตรงกัน เราจึงพาทุกคนไปย้อนดูไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อคืนวันที่ 8 ม.ค. จากข้อมูลของ พ.ต.ท.กฤษฎา จงอักษร รองผู้กำกับการศูนย์ควบคุมจราจรด่วน 1 สน.ทางด่วน 1 ให้ข้อมูลว่า เหตุรถชนกัน เกิดขึ้นช่วง เที่ยงครึ่งครึ่ง-ตี 1 เศษ หลังเกิดเหตุมีการยื้อกันไปมา เจ้าของรถเบนท์ลีย์ และผู้หญิงที่มาด้วย โบกแท็กซี่จะออกจากจุดเกิดเหตุ แต่สุดท้ายถูกห้ามไว้ และไปถึง สน.ทางด่วน 1 เวลา ประมาณ 02.00 น.

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ทางตำรวจยืนยันเวลาที่คุมตัว เจ้าของรถเบนท์ลีย์ไปตรวจเลือด คือ ช่วง 01.00-02.00 น. ขณะที่กู้ภัย ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ เล่าข้อมูลว่า ช่วง 01.00-02.00 น. คนขับเบนท์ลีย์ยังนั่งเคี้ยวหมากฝรั่งอยู่ที่ สน.ทางด่วน 1 อยู่เลย กว่าจะได้ไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลตำรวจ คือ ช่วง 04.00-05.00 น.

จากการให้สัมภาษณ์ของ ‘เสี่ยคนขับเบนท์ลีย์’ เบื้องต้นเจ้าตัวยืนยันว่า ปกติเป็นคนไม่ดื่ม เนื่องจากเป็นโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน ทำให้ดื่มเครื่องดื่มที่อัดแก๊สไม่ได้ แต่วันนั้นมีดื่มสปาร์คกลิ้งและแชมเปญ ยอมรับว่าดื่มไป 1-2 แก้ว แต่เพียงแก้วเล็กๆ เป็นพิธีเท่านั้น

ส่วนขวดไวน์ที่เจอในรถเบนท์ลีย์หลังเกิดเหตุนั้น นายสุทัศน์ บอกว่า เป็นขวดไวน์เปล่า แฟนเพื่อนอยากได้ขวดไวน์นี้ ซึ่งเพื่อนเป็นคนนำมาแล้วลืมไว้บนรถ ย้ำว่าตนไม่ได้ดื่มไวน์จริง ๆ พร้อมกับยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธการเป่าตรวจวัดแอลกอฮอล์ แต่วันเกิดเหตุตนเจ็บหน้าอก อีกทั้งผู้หญิงที่มาด้วยเพิ่งไปทำจมูกมาและมีเลือดไหล จึงคิดว่าขอไปโรงพยาบาลก่อนใกล้ ๆ และจะกลับมา ยืนยันว่าไม่ได้หนี

ส่วนภาพการเคี้ยวหมากฝรั่งนั้น เพราะลดอาการอยากบุหรี่ โดยพยายามเลิกอยู่ ตอนนั้นเครียดและอยากสูบบุหรี่มาก “ความจริงเป็นอุบัติเหตุธรรมดา ถ้าผมขับแท็กซี่ ขับรถธรรมดา ก็คงไม่มีอะไร เป็นรถหรูผิดด้วยหรือครับ อุบัติเหตุไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แล้วผมถามว่า ค่าตรวจแอลกอฮอล์จากลมหายใจยังไม่ชัวร์ ตรวจจากเลือดชัวร์กว่า”

จากนั้น ตำรวจจึงส่งตรวจเลือดที่โรงพยาบาลตำรวจโดย พ.ต.ท.กฤษฎา ยืนยัน เวลาว่า ส่งตรวจเลือดตามเวลาแพทย์รับตัว คือ 03.30 น. ก่อนจะมีการลงบันทึกประจำวัน ช่วงเช้ามืด

หากพูดถึงเหตุการณ์เมาแล้วขับที่เกิดขึ้นกับคนรวยในสังคมไทย ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีใหญ่มีผู้เสียชีวิต แต่คดีอุบัติเหตุครั้งนี้สุดท้ายจบลงด้วยดี เชื่อว่าหลายคนยังจำกันได้กับเหตุการณ์ คดีเสี่ยรถเบนซ์เมาแล้วขับ ชนรถเก๋ง “รอง ผกก.” ทำให้นายตำรวจเสียชีวิตพร้อมภรรยา ส่วนลูกสาวได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดกลางดึกวันที่ 11 เม.ย. 2562

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 ได้เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน บนถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวง-เขตทวีวัฒนา โดยบริเวณกลางสะพานข้ามคลอง พบรถยนต์ซูซูกิ สวิฟท์ สีขาว สภาพยับเยิน ภายในรถพบศพ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล รอง ผกก.(สอบสวน) กก.2 บก.ป. เสียชีวิตอยู่ตรงเบาะนั่งคนขับ นอกจากนี้ ยังพบผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย คือ นางนุชนาถ งามสุวิชชากุล ภรรยา ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนอีกคนคือ บุตรสาววัย 12 ขวบ บาดเจ็บสาหัส

ด้านเชิงสะพานข้ามคลอง พบ รถเบนซ์ อี 250 สีบรอนซ์ ทะเบียน ษฮ 789 กรุงเทพมหานคร สภาพด้านหน้าขวาพังยับ ทราบชื่อคนขับ นายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตและจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ อยู่ในอาการคล้ายเมาสุรา ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 260 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่คุมตัวไปให้ปากคำที่ สน.ศาลาแดง

นายสมชาย ยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุไปเล่นกอล์ฟที่สนามไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุแล้วดื่มเบียร์กับเพื่อนร่วมก๊วนไป 4-5 ขวด กระทั่งเวลา 23.00 น. ก็แยกย้ายกันกลับ จากนั้นก็ไม่รู้สึกตัว มารู้สึกตัวอีกทีตอนถุงลมนิรภัยทำงาน

คดีดังกล่าว พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี 5 ได้ยื่นฟ้อง นายสมชาย ต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน ใน 3 ความผิด คือ 1.ขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด 2.ขับรถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย และ 3.ขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส

ซึ่งคดีนี้อัยการไม่สั่งไม่ฟ้องความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นฯ ตามที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนแจ้งข้อหาดังกล่าวมาด้วย เนื่องจากอัยการพิจารณาแล้วพฤติการณ์ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดทางกฎหมาย

หลังเสร็จสิ้นเรื่องงานศพแล้ว นายสมชาย ขอรับผิดชอบทุกอย่างโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากศาล ไม่ว่าจะเป็น มอบเงินให้กับบุตรสาว 2 คน รวม 30 ล้านบาท ค่าอุปการะให้บุพการีของ พ.ต.ท.จตุพร และภรรยา ชดใช้ค่าบัตรเครดิตของผู้ตายทั้ง 2 ราย ซื้อรถยนต์คันใหม่แทนคันที่ประสบอุบัติเหตุ และรักษาพยาบาลแก่ลูกสาวผู้ตายจนกว่าจะหายเป็นปกติ รวมแล้ว 45 ล้านบาท

โดยศาลตัดสิน ว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวแต่หลายความผิดจึงลงโทษหนักที่สุดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก จำคุก 6 ปีปรับ 2 แสนบาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ สำนึกผิด ไม่เคยมีประวัติต้องโทษมาก่อนศาลให้โอกาสกลับตนเป็นคนดีของสังคม จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 3 ปี ปรับ 1 แสนบาท และโทษจำคุกรอลงอาญา

โดยระหว่างนี้ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้งใน 2 ปี รวมทั้งบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ 48 ชั่วโมงในเวลา 1 ปี พร้อมทั้งห้ามดื่มสุรา ของมึนเมา สำหรับคดีนี้จึงได้จบลงที่ชั้นศาลอุทธรณ์ โดยอัยการไม่ยื่นฎีกา ทำให้คดียุติไปเมื่อช่วงกลางปี 2563

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นคดีอุบัติเหตุเมาแล้วขับที่เกิดขึ้นมาในสังคมไทย หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีอำนาจเงิน หรือฐานะร่ำรวย ไม่ทราบเลยว่าเรื่องราวดังกล่าวจะจบลงอย่างไร…