เมื่อวันที่ 22 ม.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลด้านการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการพัฒนาการให้บริการประชาชนเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ผู้บริโภคหลงซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อ้างสรรพคุณเกินจริง การผลิตไม่ได้มาตรฐาน นอกจากจะเป็นการเสียเงินโดยไม่เกิดประโยชน์แล้ว อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเลือกใช้หรือเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยความมั่นใจ เกิดประโยชน์จริง ที่สำคัญต้องไม่ถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. จึงได้พัฒนาระบบการตรวจเลข อย.ผ่านทาง LINE@FDATHAI ซึ่งใช้เวลาเพียงสั้นๆเท่านั้น โดยเข้าไปที่หน้าแชต กดเมนูตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์ แล้วพิมพ์เลข อย. ของผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง ทั้งตัวอักษร ตัวพิมพ์ใหญ่ สัญลักษณ์ และตัวเลข โดยไม่ต้องเว้นวรรค เมื่อระบบตรวจพบเลข อย. จะแสดงสถานะของผลิตภัณฑ์ หากไม่พบ ระบบจะแจ้งเตือนพร้อมคำแนะนำเบื้องต้น

จึงขอชวนประชาชนตรวจสอบเลข อย. ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านช่องทางไลน์ LINE@FDATHAI อีกทั้งอย่าได้หลงเชื่อในสรรพคุณโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะสินค้าที่อ้างสรรพคุณครอบจักรวาล อาทิ ช่วยลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน ช่วยเพิ่มขนาดหน้าอก กระชับมดลูก ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศช่วยกำจัดและขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยให้ความจำดี เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่มีการโอ้อวดเกินจริงเหล่านี้ อย. เคยตรวจพบว่ามีการปลอมปนตัวยาบางตัวที่ส่งผลข้างเคียงและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ดังนั้นหากพบเห็นการกระทำอันเป็นภัยต่อสังคม ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. 1556 ซึ่งทาง อย จะได้ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจากการที่รัฐบาลได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยใช้นโยบายปฏิบัติต่อผู้เดินทางจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ได้สนับสนุนให้มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่านักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจะเพิ่มขึ้นอีกมากหลังจากรัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา และจะอนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์ได้ตั้งแต่ 6 ก.พ.66 เป็นต้นไป โดยเริ่มต้นใน 20 ประเทศรวมถึงประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศได้พัฒนาระบบขอรับตรวจลงตรา(วีซ่า) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติ ที่ปัจจุบันสามารถขออนุญาตผ่านระบบออนไลน์ หรือ e-Visa ได้โดยไม่ต้องยื่นหรือส่งหนังสือเดินทางและเอกสารหลักฐานตัวจริงไปยังที่สถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยในแต่ละประเทศ และเมือง ซึ่งรัฐบาลมั่นใจว่าระบบการให้วีซ่าที่สะดวกสบายจะรองรับความต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยที่กำลังเพิ่มขึ้นในขณะนี้และระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี

จากการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศได้รายงานว่า การขออนุญาตเข้าประเทศไทยสำหรับชาวจีนปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งการขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) ซึ่งอยู่ในอำนาจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และ การยื่นขอวีซ่าในต่างประเทศผ่านระบบ e-Visa ซึ่งอยู่ในอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับการใช้บริการเพื่อยื่น e-Visa สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://www.thaievisa.go.th  โดยไม่ต้องยื่นหรือส่งหนังสือเดินทางและเอกสารหลักฐานตัวจริงไปที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุล ซึ่งในเว็บไซต์จะรวมช่องทางการยื่นขอวีซ่าทุกประเภท มีการอธิบายขั้นตอนและมีวิดีทัศน์สาธิตการสมัครขอวีซ่าโดยละเอียด(https://thaievisa.go.th/video-user-manuals) หลังจากได้รับการอนุมัติ e-Visa แล้วจะมีไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ยืนยันส่งไปยังผู้ขอวีซ่า จากนั้นผู้ขอสามารถพิมพ์เอกสารยืนยันที่ได้รับทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปแสดงต่อสายการบินและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยสำหรับตรวจสอบ เมื่อเดินทางไปประเทศไทยต่อไป

ทางด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารมว.มหาดไทย ได้เริ่มโอนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 38,408 ครัวเรือน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินและธนาคารออมสินได้โอนเงินช่วยเหลือ ครั้งที่ 1 เข้าบัญชีผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 38,408 ราย ผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) แบ่งเป็น ธนาคารออมสิน 5,645 ราย และธนาคารอื่น 32,763 ราย อย่างไรก็ตาม มีผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 1,006 ราย ไม่สามารถโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้เนื่องจากไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชนซึ่งปภ.ได้แจ้งให้จังหวัดประสานผู้ประสบภัยมาดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์เพื่อรับเงินช่วยเหลือต่อไป 

ขณะเดียวกันมีจังหวัดที่ได้จัดส่งข้อมูลครัวเรือนผู้ประสบอุทกภัยมาให้ ปภ. เพิ่มเติมแล้วอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น และสุพรรณบุรี รวม 75,841 ครัวเรือน จำนวนเงิน 547,805,000 บาท ซึ่งจะได้รวบรวมส่งให้ธนาคารออมสินเพื่อดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีต่อไป สำหรับจังหวัดอื่น ๆ หลายจังหวัดได้มีกำหนดการประชุม ก.ช.ภ.จ. เพื่อตรวจสอบและจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ ปภ. เพื่อให้สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยได้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด