โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าว เป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น จากงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งในปี 2562 กว่า 1,724 ล้านบาท ซึ่งก็คงจะต้องรอดูกันต่อไปว่า การเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะคุ้มค่ากับงบประมาณมหาศาลที่เสียไปหรือไม่

ขณะที่ “ไทม์ไลน์ยุบสภา” ที่ถูกคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้มากที่สุด อยู่ในช่วงต้นเดือน มี.ค. ก่อนที่จะครบวาระสภาในวันที่ 23 มี.ค. เพื่อให้ ส.ส. ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ทัน ตามเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งในกรณีมีการยุบสภา จะลดระยะเวลาการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของผู้สมัคร จากไม่น้อยกว่า 90 วัน เหลือเพียง 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การยุบสภานอกจากเงื่อนไขทางการเมืองแล้ว ก็อาจจะต้องพิจารณาเงื่อนไขการจัดการเลือกตั้งด้วย เพราะหากนายกฯ ตัดสินใจยุบสภาในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งบังคับใช้ ทั้ง พระราชบัญญัติประกอบรับธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พระราชบัญญัติประกอบรับธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อาจจะเกิดปัญหาต่อการจัดการเลือกตั้ง เพราะ กกต. จะไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งจาก 350 เขต เป็น 400 เขต ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ ขณะที่พรรคการเมืองก็จะไม่สามารถทำไพรมารีโหวต เพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

ดังนั้นการที่จะเดินเกมเร็วชิงยุบสภาหลังกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ อาจจะตอบโจทย์เงื่อนไขทางการเมือง แต่ไม่ตอบโจทย์เงื่อนไขในการจัดการเลือกตั้ง!

เอาล่ะ ไม่ว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือรัฐบาลจะอยู่จนครบวาระหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังต้องรอลุ้นกันต่อไป แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือการประโคมปี่กลองโหมโรงการเลือกตั้ง ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียง การเปิดตัวผู้สมัคร การประกาศนโยบาย ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นไปอย่างคึกคัก ไม่มีใครยอมใคร

และยังเพิ่มความร้อนแรงให้การเลือกตั้งขึ้นไปอีกระดับ ด้วย “เกมชิงจังหวะ” ระหว่าง “พี่น้อง 2 ป.” ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เรียกได้ว่าขับเคี่ยวกันแบบไม่มีใครยอมใคร

ทั้งเกมปาดหน้าลงพื้นที่ของ “พี่ใหญ่” เพื่อตัดจังหวะ สกัดดาวรุ่ง “น้องเล็ก” หลายครั้ง ไล่ตั้งแต่ ราชบุรี พิจิตร นครสวรรค์ ตลอดจนการดอดไปเดินชิลในงานตรุษจีนเยาวราช ก่อนที่ “บิ๊กตู่” จะลงพื้นที่ในช่วงเย็น หรือการเดินเกมรุกโซเชียลมีเดีย ผ่าน แฟนเพจ “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ที่ประเดิมกระแสตอบรับด้วยจดหมายเปิดใจ “บิ๊กป้อม” ไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยล่าสุดมีการโพสต์ขอบคุณคนติดตามเฟซบุ๊ก และเตรียมที่จะไลฟ์สดแจงนโยบาย พร้อมย้ำว่า “ผมอาจจะเป็นมือใหม่บนโลกโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ใช่มือใหม่ทางการเมือง” ซึ่งก็เห็นถึงสัญญาณรุกโซเชียลได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นยังเป็นเพียง “น้ำจิ้ม” เพราะหากสังเวียนการเลือกตั้งเปิด การแข่งขันทางการเมืองที่ร้อนแรง การหาเสียงที่ดุเดือดยิ่งขึ้น เมื่อนั้น “พี่น้อง 2 ป.” อาจจะต้องหันหน้าเข้าห้ำหั่นกันในสนามการเมือง สังเวียนเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

โดยหลังจากนี้ทั้ง “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ต่างก็มีการวางคิว “ไฮด์ปาร์ก” เรียกเรตติ้งเช่นเดียวกัน โดย “บิ๊กตู่” เลือกที่จะปักหมุดประเดิมเวที ด้วยการขึ้นปราศรัยครั้งแรกในนามสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ บริเวณหน้าศาลากลางเทศบาลเมืองจังหวัดชุมพร ท่ามกลางประชาชนเรือนหมื่น ซึ่งงานนี้ถือเป็น “ภารกิจปักธงชัย” ในพื้นที่ฐานเสียงที่เข้มแข็งของ ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร หลายสมัย ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องการชนะยกจังหวัดทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง

แต่ก็ยังไม่วายดราม่าชื่อพรรคแบบเจ็บจี๊ด จากกรณี วันชัย สอนศิริ ส.ว. ที่ออกมาผวนชื่อ รวมไทยสร้างชาติ กลายเป็น “รวมทาสสร้างชัย” พร้อมเตือนว่า มันทำไมเป็นเช่นนี้ ดูหน้าดูหลัง ตรวจดวงชะตากันมาหรือยัง เห็นคนเอามาพูดกันเยอะว่า รวมทาสไปสร้างชัย รวมไทยไปสร้างชาติ มันจะไหวหรือ ทำไมมันมาบรรจงลงตัวที่ชื่อนี้

ตัดมาที่ “บิ๊กป้อม” หลังจากพรรคพลังประชารัฐได้ฤกษ์เปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวของพรรคอย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อย ก็มีการจัดกระบวนทัพ เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก พร้อมด้วยการเปิดตัวคนการเมืองทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่เข้าร่วมงานกับพรรค ทั้ง “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ได้ยื่นใบลาออกจากหัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน เพื่อเตรียมสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค ก่อนขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ของพรรคพลังประชารัฐ หรือ นิธิ บุญยรัตกลิน บุตรชาย “บิ๊กบัง” พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนั้น ยังมีกระแสข่าวว่า แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย มีการดีลที่จะ “รีเทิร์น” ควบรวมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยจะเข้ามาเสริมทัพช่วยดูนโยบายเศรษฐกิจ ถ้าเป็นเรื่องจริง จะเท่ากับว่าพรรคพลังประชารัฐ มีทีมเศรษฐกิจ ถึง 3 ทีม ทั้ง “อาจารย์แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และทีมพรรคสร้างอนาคตไทย ที่นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กลายเป็นเสือ 3 ตัวอยู่ในถ้ำเดียวกัน ศึกการฟาดฟันกันเองคงเต็มคาราเบล!

ปรับโฟกัสมาที่ขั้วพรรคฝ่ายค้านทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ก็มีการลงพื้นที่เยาวราชในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อเรียกเรตติ้งกันอย่างคึกคัก แต่ที่สร้างเสียงฮือฮาที่สุด เห็นจะเป็นความเคลื่อนไหวของ “อุ๊งอิ๊ง”แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ควงแขน เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นคนที่ตกเป็นข่าวหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยผู้บริหารพรรค และ ส.ส. พื้นที่ กทม. ลงพื้นที่เยาวราช เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เนื่องในวันตรุษจีน และพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจในย่านเยาวราช เช่นเดียวกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ที่ควงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่เยาวราช ในช่วงเทศกาลตรุษจีนอย่างคึกคัก

แต่ภายใต้บริบทของการเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็เริ่มจับอาการเกมชิงมวลชน ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ อย่างล่าสุด จับอาการจากท่าทีของ “โทนี่ วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร ที่พูดผ่านรายการ CareTalk x Care ClubHouse ตอนหนึ่งว่า “จุดยืนทางการเมืองในการที่จะทำอะไรบางอย่าง มันก็เป็นความต่างกันของเพื่อไทย และก้าวไกลอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าแฟนคลับชอบแบบเอ็กซ์ตรีม ก็ไปที่ก้าวไกล ชอบปากท้องต้องมาก่อน และประชาธิปไตยที่เหมาะสม ก็มาเพื่อไทย”

เช่นเดียวกับท่าทีของพรรคก้าวไกล นอกจากหัวหน้าพรรคจะออกมาประกาศชัดว่าไม่เอาพรรคทหารจำเเลง ทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐแล้ว แกนนำพรรคก้าวไกลยังได้ออกมาย้ำจุดยืนก้าวไกล ว่า ถ้าเพื่อไทยหนีบเอา “บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่” ร่วมอยู่ในสูตรตั้งรับบาลด้วย พรรคก้าวไกลจะไม่จับขั้วด้วย พร้อมยังเตรียมแคมเปญรณรงค์ให้ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลให้มากที่สุด เพื่อที่จะไม่ต้องจับมือกับใคร และตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เลย ซึ่งท่าทีดังกล่าวจะว่าไปแล้ว ก็ไม่ต่างกับการปีนเกลียวพี่ใหญ่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย

นอกจากนั้นยังมีดราม่า “สงครามน้ำลาย” สกัดแผนแลนด์ไสลด์ของพรรคเพื่อไทย โดย จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน และอดีตแกนนำ นปช. ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทย จากกรณีความไม่ชัดเจนว่าจะจับมือร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ไปถึง ทักษิณ ชินวัตร ว่าการประกาศกลับบ้านโดยไม่ใช้กฎหมาย เป็นการปลุกความคิดให้นำไปสู่การล้มกระดานได้อย่างง่ายดายอีกรอบหนึ่ง และอาจจะทำให้ไม่ได้เลือกตั้ง จนทำเอา ทักษิณ ต้องออกมาตอบกลับว่า เรื่องจตุพรนั้นก็อย่าไปฟังเลย ฟังไปก็เปลืองน้ำยาล้างหู

ปิดท้ายกันด้วยเกมการเมืองสภา ที่ยังคงเกิดปรากฏการณ์สภาล่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ประเด็นที่มาของนายกฯ และยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ แต่กลับปรากฏว่า มีสมาชิกเสียบบัตรแสดงตนไม่ครบองค์ประชุม จึงทำให้รัฐสภาล่มเป็นครั้งที่ 3 นับจากต้นปี 2566 จากการที่ ส.ว. และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล อยู่ในห้องประชุมก็บางตา จนถูกมองว่าเป็นเกมขวางแก้รัฐธรรมนูญแบบจงใจ

สุดท้ายนี้แม้สถานการณ์ในสภาจะลุ่มๆ ดอนๆ แต่ก็ยังมีเกมร้อน ที่จะต้องจับตามองคือ การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ภายใต้ยุทธการ “ถอดหน้ากากคนดี” ที่จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 15-16 ก.พ. นี้ โดยฝ่ายค้านได้เวลา 24 ชั่วโมงเต็ม ในการเปิดแผล รุมทึ้งรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งก็คงจะต้องรอดูกันว่า จะดุเดือดเผ็ดมันมากแค่ไหน และจะมีผลลัพธ์ต่อเกมการเมืองและการเลือกตั้งหลังจากนั้นหรือไม่…อีกไม่นานคงได้รู้กัน!.