จากกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟสบุ๊คส่วนตัว สรุปใจความได้ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีการอนุมัติหมายจับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 ราย ได้แก่ นายตฤณ พิชิตกุญชร นายอนัน สีลาโคตร และ นายอดิศร สนธิวรชัย ในข้อหาร่วมกันบุกรุกเคหสถาน ร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนเนื่องจากเหตุการณ์ช่วงเย็นเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 65 ซึ่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอทั้ง 3 รายนี้ได้มีการบุกเข้าไปค้นคอนโดของอดีตกงสุลใหญ่นาอูรูแถวห้วยขวาง โดยไม่มีหมายหมายค้น อีกทั้งยังมีการนำเอาพระเครื่องจากห้องพักออกมาด้วย โดยการเข้าค้นคอนโดฯหรูแห่งนี้ของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอทั้ง 3 ราย ถือเป็นการเข้าตรวจค้นเป็นสถานที่ที่สองเพราะในช่วงกลางวันของวันเดียวกันนั้น ได้มีการสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 เข้าตรวจค้นบ้านพักอดีตกงสุลนาอูรู ย่านสาทร และรีดทรัพย์กว่า 9.5 ล้านบาทก่อนปล่อยตัวกลุ่มชาวจีนเทาทั้ง 11 รายให้หนีออกนอกประเทศไทยไปก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 26-27 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ยังได้ออกหมายเรียกให้นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายเสกสิทธิ์ สวรรยาธิปัติ ผอ.กองพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ (ซึ่งเป็นหน้าห้องของและเป็นมือขวาของนายไตรยฤทธิ์) เข้าให้ปากคำในกรณีที่ชุดเฉพาะกิจของดีเอสไอเข้าตรวจค้นสถานที่ของอดีตกงสุลนาอูรูถึงสองแห่งภายในวันเดียวกัน และยังพบพยานหลักฐานรวมถึงคำให้การที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างนายไตรยฤทธิ์ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ จำนวน 5 รายที่ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาไปก่อนหน้านี้อีกด้วยนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ได้รับการเปิดเผยจาก นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่าศาลอาญาได้ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 รายจาก 5 ราย ก็ค่อนข้างมีความชัดเจน ส่วนขั้นตอนของทางกรมสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 5 รายที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องวินัยร้ายแรงอยู่ในขณะนี้นั้น ซึ่งเบื้องต้นก็ยังให้พักราชการไว้ก่อน แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 รายที่เพิ่งถูกศาลออกหมายจับ ในส่วนนี้ทางคณะกรรมการฯ จะต้องกลับไปดูรายละเอียดในพฤติการณ์รอบแรกว่าเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน ครอบคลุมมาถึงเหตุการณ์นี้ด้วยหรือไม่ เพื่อดูว่าทางคณะกรรมการฯ จะนำมารวมพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน หรือว่าจะแยกพิจารณาออกมาเป็นอีกเรื่องแทน คาดว่าในวันจันทร์ที่ 30 ม.ค. จะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมออกมาให้ทางสาธารณะได้รับทราบ

นางพิชญา เผยต่อว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 รายได้ถูกศาลออกหมายจับในวันนี้นั้น เบื้องต้นทางกรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้รับการแจ้งมาอย่างเป็นทางการ อีกทั้งจะต้องดูว่าในวันนี้เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 รายจะเดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าหากว่าพวกเขาเข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหาหรือปฏิเสธข้อกล่าวหา จากนั้นก็จะมีการแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษให้รับทราบ จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนถัดไปว่าคณะกรรมการสอบสวนเรื่องวินัยร้ายแรงจะต้องบรรจุวาระของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอทั้ง 3 รายนี้เข้าในที่ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะสอบสวนรวมเป็นเรื่องเดียวกันกับชุดแรกหรือไม่ หรือจะแยกออกมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งตามที่ได้เรียนแจ้งไปข้างต้น

นางพิชญา เผยอีกว่า โดยปกติแล้วตามกฎของการดำเนินการทางวินัย หากทางคณะกรรมการได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอทั้ง 5 รายแล้ว โดยคณะกรรมการจะมีระยะเวลา 120 วัน ในการที่จะประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณามีความเห็น หรืออาจจะเร็วกว่านั้นหากพบการกระทำผิดที่ชัดเจน จากนั้นทางคณะกรรมการจะเสนอผลสรุปความเห็นไปยังกระทรวงยุติธรรม หากทางกระทรวงมีความเห็นสอดคล้องกับทางคณะกรรมการ จึงจะส่งเรื่องกลับมายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อออกคำสั่งว่าจะให้มีการปลดออกจากราชการ หรือ ไล่ออกจากราชการ เพราะถือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสอบสวนวินัยร้ายแรง

เมื่อถามถึงกรณีของนายเสกสิทธิ์ สวรรยาธิปัติ ผอ.กองพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ ว่าขณะนี้ได้ถูกสั่งให้พักราชการหรือไม่อย่างไร นางพิชญา กล่าวว่า เนื่องจากทราบเบื้องต้นว่าทางพนักงานสอบสวนยังมิได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับนายเสกสิทธิ์ คาดว่าอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน จึงยังไม่ได้มีการสอบสวนเรื่องวินัยของนายเสกสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ยืนวันว่าเราดำเนินการคู่ขนานควบคู่กับทางคดีอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยหากพบว่าพนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อหาใดกับนายเสกสิทธิ์ เราก็จะต้องสอบสวนทางวินัยเช่นเดียวกัน.