สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ว่า ประชาชนบนคาบสมุทรคัมชัตกา ในภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย เป็นภูมิภาคแห่งแรกของประเทศ ที่ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อเวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันศุกร์ (03.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)


อนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียจะทยอยเปิดและปีดหีบ ตามโซนเวลาของแต่ละภูมิภาค โดยพื้นที่สุดท้ายซึ่งจะมีการลงคะแนนและปิดหีบ คือ แคว้นคาลินินกราด ที่อยู่ทางตะวันตกสุด แต่ไม่ได้ติดกับแผ่นดินรัสเซีย โดยล้อมรอบด้วยโปแลนด์และลิทัวเนีย ในเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 17 มี.ค. (01.00 น. วันที่ 18 มี.ค. ตามเวลาในประเทศไทย) นอกจากนี้ พื้นที่ยึดครองของยูเครนในรัสเซีย จัดการลงคะแนนเช่นกัน

ประชาชนในเมืองโดเนตสก์ ทางตะวันออกของยูเครน ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้นำรัสเซีย ผ่านหน่วยลงคะแนนเคลื่อนที่


การเลือกตั้งผู้นำรัสเซียครั้งนี้มีผู้สมัคร 4 คน ได้แก่ นายวลาดิสลาฟ ดูมันคอฟ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาดูมา จากพรรคประชาชนใหม่ นายเลโอนิด สลุตสกี จากพรรคเสรีประชาธิปไตย นายนิโคไล คาริโตนอฟ จากพรรคคอมมิวนิสต์ และปูติน ซึ่งลงสมัครในนามอิสระ โดยได้รับความสนับสนุนจากพรรคยูไนเต็ดรัสเซีย


ทั้งนี้ ทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศคาดการณ์ไปในทางเดียวกัน ว่าปูตินวัย 71 ปี ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2543 เนื่องจากเปลี่ยนไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงหนึ่ง เพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ จะสามารถคว้าชัยชนะได้อย่างไม่ยากเย็น และรักษาตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 5 โดยจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2573 “เป็นอย่างน้อย” หลังรัสเซียแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2563 เกี่ยวกับการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี


ขณะที่บรรดานักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้าน ล้วนถูกตัดสิทธิอยู่ในเรือนจำ หรือเสียชีวิตไปแล้ว โดยเฉพาะนายอเล็กซี นาวัลนี ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำที่ไซบีเรีย เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางข้อกังขาของหลายฝ่าย เกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต ด้านนางยูเลีย นาวัลนายา ภรรยาของนาวัลนี เรียกร้องประชาชนร่วมกันประท้วง ในวันที่ 17 มี.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการลงคะแนน


ส่วนสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของรัสเซียเผยแพร่คำแถลงของปูติน เชิญชวนชาวรัสเซียออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง โดยผู้นำรัสเซียกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้น ในช่วงที่บ้านเมืองยังคงต้องฝ่าฟันความท้าทายที่ซับซ้อนในแทบทุกมิติ ดังนั้น ความสามัคคีเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคทั้งมวลไปพร้อมกัน และการใช้สิทธิเลือกตั้ง “เป็นการแสดงออกซึ่งความรักชาติ” .

เครดิตภาพ : AFP