เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2566 ว่า ในการประชุมวันนี้ได้พูดคุยถึงเรื่อง Traffy Fondue ซึ่งประชาชนแจ้งเรื่องแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัจจุบันมีการแจ้งเรื่องเข้ามากว่า 2 แสนเรื่อง โดยมีเรื่องไปค้างอยู่ที่สำนักการโยธา (สนย.) สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) และสำนักงานเขต ซึ่งสำนักงานเขตสามารถจัดการเรื่องได้ค่อนข้างดี ดำเนินการแล้วเสร็จไปเกือบ 90%

ในส่วนของ สนย. มีเรื่องแจ้งเข้ามาทั้งหมด 30,205 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 10,310 เรื่อง กำลังดำเนินการ 14,584 เรื่อง โดยเรื่องค้างส่วนใหญ่จะอยู่ที่โยธา เพราะเป็นปัญหาที่ต้องใช้งบประมาณเยอะ เช่น ถนนพัง ซึ่งได้สั่งการให้ สนย. เร่งรัดในการแก้ปัญหา

สำหรับ สจส. มีเรื่องแจ้งเข้ามาทั้งหมด 11,710 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 5,793 เรื่อง กำลังดำเนินการ 4,923 เรื่อง ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ เราต้องปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น และได้สั่งการให้ สจส.เร่งรัดในการแก้ปัญหาเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะต้องของบประมาณเพิ่ม จัดการปัญหาเชิงนโยบาย หรือดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น

นายชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา คือการแก้ปัญหาในระดับเส้นเลือดฝอยให้ประชาชน ซึ่งเราแก้ปัญหาไปเกือบ 2 แสนเรื่องแล้ว โดยไม่ต้องรอให้ผู้ว่าฯ สั่งการ เพราะเมื่อ ผอ.เขตเห็นปัญหา ก็สามารถระดมสรรพกำลังลงไปแก้ไขได้ทันที จากนี้ก็ต้องปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น และต่อไปก็จะเป็นการทำในเชิงรุกมากขึ้น เพราะจำนวนที่รับแจ้งน้อยลง ปัญหาที่สะสมถูกแก้ไปเยอะแล้ว โดย 3 เรื่องหลักที่ได้รับแจ้งมาและเป็นหัวใจในการดำเนินการคือเรื่องถนน ทางเท้า และแสงสว่าง ซึ่งจะติดตามความคืบหน้ากับผู้บริหารอย่างใกล้ชิดต่อไป

ในส่วนของการแก้ปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่กรุงเทพฯ ทาง สนย. ได้รายงานผลการดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบ และการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะ พบว่าในกรุงเทพมหานครมี 98,688 ดวง ไฟฟ้ายังดับอยู่ 8,943 ดวง แก้ไขแล้ว 3,285 ดวง ขณะนี้ได้มอบหมายให้ สนย. เร่งดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายในไม่เกิน 2 เดือนนี้ และจะมีการติดตั้งหลอดแบบ LED เพิ่มเติมอีกด้วย

นายชัชชาติ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2025 (พ.ศ. 2568) ว่า กีฬาซีเกมส์ที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นครั้งที่ 33 มีกำหนดการแข่งขันระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 คณะอนุกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกให้กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสงขลา เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 โดยมี 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม ซึ่ง กทม. ได้เตรียมความพร้อม 10 ด้าน ประกอบด้วย สนามแข่งขัน สนามฝึกซ้อม ที่พัก สถานพยาบาล คมนาคม สถานศึกษา การตลาดและสิทธิประโยชน์ บุคลากร/อาสาสมัคร สาธารณูปโภค เทคโนโลยีสารสนเทศ และงบประมาณ

โดยจะมอบหมายให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว วางแผนเตรียมสถานที่และงบประมาณให้พร้อมควบคู่ไปกับการฝึกฝนนักกีฬา และสั่งให้มีการเตรียมแผนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากจะเป็นการจัดแข่งขันกีฬาแล้ว อีกมิติหนึ่งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองที่สำคัญ เป็นการดึงนักท่องเที่ยว นักกีฬา จาก 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม สร้างความคึกคักให้กับเศรษฐกิจในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีภาครัฐ ภาคเอกชนจากภาคธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ห้องอาหาร ที่พักต่าง ๆ ร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยกัน.