เมื่อวันที่ 1 ก.พ. เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ พร้อมด้วย นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กกต. และนายกิติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณีมีการระบุว่า กกต.ขอเวลารัฐบาลในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งรวม 45 วันนั้น ว่าเราได้มีการประสานและชี้แจงทำความเข้าใจว่าเมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว เรามีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในเรื่องต่างๆ เช่น การที่ กกต.จังหวัดจะต้องแบ่งเขตภายในเวลา 3 วัน การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และพรรคการเมืองอีก 10 วัน โดยเมื่อครบระยะเวลา กกต.จังหวัดจะต้องพิจารณา เพื่อทำความเห็นว่ารูปแบบใดเหมาะสม อีก 3 วัน รวมเป็นเวลา 16 วัน

จากนั้นจะส่งให้ กกต.พิจารณา ซึ่ง กกต.กลางจะรีบพิจารณาโดยตั้งเป้าว่าดำเนินการให้เสร็จภายในไม่เกิน 5 วัน 400 เขต เราจะใช้ระยะเวลาวันละ 100 เขต สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหากับเรา แต่ไม่ใช่เรื่องสะดวกสบาย เรามีการเตรียม และตั้งเป้าหมายการทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันเราต้องคำนึงถึงพรรคการเมืองที่ต้องมีเวลาในการดำเนินการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องเผื่อเวลาให้กับพรรคการเมือง โดยวันพุธที่ 8 ก.พ. 66 จะมีการประชุมร่วมกับพรรคการเมืองเข้ามาหารือเรื่องค่าใช้จ่าย ว่าจำนวนที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ และวิธีการทำไพรมารีโหวต เพื่อให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้อย่างถูกต้อง เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ทำงานทุกวัน และกล้าที่จะพูดว่าเราพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งให้ชอบด้วยกฎหมาย

“ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ออกมาระบุว่า จะไม่ก้าวล่วง กกต. ทำให้การประสานงานออกมาในรูปแบบที่ดี ท่านเข้าใจในระยะเวลาเหล่านี้ การที่เรามีน้ำใจคิดหวังดีกับส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อาจจะส่งผลร้ายกลับมาที่ กกต. หากมีความไม่เข้าใจข้อกฎหมายและระเบียบกำหนดว่าอย่างไร ข้อวิจารณ์ต่างๆ เรารับฟังตลอด ถ้าถูกต้องเราพร้อมรับมาปฏิบัติ” นายปกรณ์ กล่าว

นายปกรณ์ ยังกล่าวอีกว่า กรณีการประกาศจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดที่พึงมี ซึ่งคิดจากข้อมูลการประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65 อยากทำความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 86 กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่มีการประกาศปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งการประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย จนถึงปี 57 จะประกาศจำนวนราษฎรรวม ต่อมาปี 58 เป็นปีแรกที่สำนักทะเบียนกลางประกาศโดยแยกชายหญิงของคนที่มีสัญชาติไทย และคนที่ไม่มีสัญชาติไทย และปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งปี 62 ซึ่งการคิดจำนวนราษฎรต้องคิดยอดรวมอย่างเดียว การคิดอย่างนี้เคยมีปัญหาเมื่อปี 57 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จะยกฐานะเป็นเทศบาล มีการโต้แย้งว่าควรจะรวมผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยเป็นราษฎรรวมหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นสอดคล้องกับ กกต. ว่าการคิดจำนวนราษฎรนั้นต้องคิดรวมทั้งหมดของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ต้องแยกคนที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย เพราะต้องคำนึงถึงบุคคลที่มีสิทธิใช้บริการ และผู้เสียภาษีอากรในการคิดค่าธรรมเนียม คือ ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย อาจจะได้รับแตกต่างจากผู้ที่มีสัญชาติไทย

แต่การคิดจำนวนราษฎร ต้องคิดรวมทั้งหมดไม่ว่าผู้นั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ หรือมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะคนที่มีสัญชาติไทยก็ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่สอดคล้องต้องกัน และทำมาโดยตลอด ข้อมูลที่นำเสนอคิดว่าทั้งสองปัญหานี้มีความกระจ่างพอสมควร

นายปกรณ์ยังกล่าวถึงกรอบระยะเวลาการทำงานของ กกต.ที่จะพิจารณาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า ในช่วงวันที่ 1-3 ก.พ. กกต.จังหวัด จะเร่งดำเนินการแบ่งเขตให้แล้วเสร็จใน 3 รูปแบบ จากนั้นวันที่ 4-13 ก.พ. จะปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง และประชาชน 14-16 ก.พ. กกต.จังหวัดจะสรุปและทำความเห็น เลือกรูปแบบเขตเลือกตั้งที่เหมาะสมเพื่อนำเสนอ กกต.กลาง

โดยในวันที่ 20-28 ก.พ. กกต.กลางจะพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง คาดว่าใน 1 วันจะพิจารณาไม่ต่ำกว่าร้อยเขต อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ใน 30 จังหวัด พบว่า ไม่มีจังหวัดไหนไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ เช่นนครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ บุรีรัมย์ จะเห็นว่าจังหวัดใหญ่ๆ พร้อมแล้ว และตนได้กำชับว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายกำหนด

ส่วนกรณีการแบ่งเขตที่เคยถูกข้อครหาเมื่อการเลือกตั้งปี 62 นั้น นายปกรณ์ ยืนยันว่า การแบ่งเขตในการเลือกตั้งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และการที่ระบุว่า แบ่งเขตแบบเส้นก๋วยเตี๋ยว ในเรื่องนี้ตนได้ลงพื้นที่ไปดูใน จ.สุโขทัย พบว่า พื้นที่เป็นพื้นที่ภูเขา แต่มีความกว้างที่ห่างกัน ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยุบสภาที่จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หรือสภาอยู่ครบวาระที่จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ไม่ว่าจะเกิดกรณีใดเราก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนกรณีพรรคการเมืองร้องว่าป้ายหาเสียงถูกทำลาย เรื่องนี้ กกต.จังหวัด และ กกต.กทม.ดูแลอย่างเต็มที่ แม้ว่าขณะนี้จะถือว่ายังไม่มีผู้สมัคร หรือว่ายังไม่มีเขตเลือกตั้งที่ชัดเจนที่จะเป็นองค์ประกอบให้สามารถดำเนินการเอาผิดได้ แต่ได้มีการรวบรวมข้อมูล ซึ่ง กกต.จะพิจารณาทุกคำร้องและทุกความเห็น

โดยในวันที่ 8 ก.พ.นี้ กกต.จะเชิญพรรคการเมืองร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคการเมือง รวมถึงการทำไพรมารีโหวต ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พรรคการเมืองจะได้ทราบ ว่าสาขาและตัวแทนพรรคจะต้องดำเนินการอย่างไร.