โดย : นนท์นลิน ทังสุนทร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์การลงทุน รองผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด หรือ XSpring AM

 “การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนคือความเสี่ยงยิ่งกว่า” คงไม่มีประโยคใดสามารถอธิบายสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ดีเท่าประโยคนี้อีกแล้ว ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดทั้งในและต่างประเทศ การลงทุนอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเอาชนะเงินเฟ้อ รูปแบบการลงทุนที่เป็นทางเลือกหนึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันคงหนีไม่พ้น การลงทุนรูปแบบ “กองทุน” เนื่องจากลักษณะพิเศษที่มีการแบ่งพอร์ต กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท จากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน จึงสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าการลงทุนแบบเดียวในสภาวะตลาดที่ยังคงไม่แน่นอนในปัจจุบัน (อ้างอิงข้อมูลจาก am.JPMorgan.com : Guide to the Market Q1 2023)

หากเราลองศึกษาถึงผลตอบแทนในสินทรัพย์หลาย ๆ ประเภทในปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าไม่มีสินทรัพย์ใดโดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเฉพาะตัวสูงที่ให้ผลตอบแทนสูงติดกันทุกปี กล่าวคือ…เป็นไปไม่ได้!! ที่ในแต่ละปีสินทรัพย์ประเภทหนึ่งใดประเภทหนึ่งจะให้ผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอในทุกไตรมาส

แต่สิ่งที่สามารถสังเกตได้ คือ… หลังจากปีที่แย่หรือสองปีที่แย่ติดกัน มักเป็นไปได้สูงที่อีก 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเวลาที่ดีของหุ้นแต่ละประเทศ

จากสถิตินี้ ทำให้นักลงทุนอาจต้องกลับมามองอัตราผลตอบแทนในช่วงที่ผ่านมาของแต่ละสินทรัพย์เทียบกับผลตอบแทนของดัชนีในระยะยาว 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี แทนการมองผลตอบแทนในระยะ 1-2 ปีที่ดีในระยะสั้น จนพลาดการมองเห็นอัตราผลตอบแทนที่ควรจะเป็นจริง ๆ ในระยะยาว และทำให้เผชิญสภาวะการขาดทุนอย่างหนักได้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ ถูกกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงถึงภูมิทัศน์การลงทุน รวมถึงทัศนคติต่อสินทรัพย์ลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในทศวรรษก่อนหน้านี้ทางผู้เขียนขอใช้คำศัพท์สบาย ๆ ว่า “เป็นช่วงเวลาที่อะไร ๆ ก็ดี”จนยากที่จะมีทศวรรษแบบนี้ติด ๆ กัน โดยเฉพาะ “หุ้นสหรัฐฯ” ซึ่งสาเหตุหลักๆเห็นว่ามาจากการที่

1. การอัดฉีด QE หรือการพิมพ์เงินดอลลาร์สหรัฐฯปริมาณมหาศาลเป็นสภาพคล่องที่เข้ามาในระบบจนทำให้เกิดสภาวะแสวงหาผลตอบแทนในทุกสินทรัพย์โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่เติบโตสูงในยุค 2009-2021

2. มีการลดภาษีนิติบุคคลในปี 2017 ทำให้อัตรากำไรสุทธิของหุ้นสหรัฐฯดีขึ้น ในยุคประธานธิบดี Donald J. Trump ซึ่งหุ้นที่ได้ประโยชน์สูงสุดคงหนีไม่พ้นคือหุ้นกลุ่ม Growth Stock ที่เล่นกันบนความหวังอย่างหุ้น Tech และ Healthcare

3. อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯและยุโรป คงตัวในระดับต่ำมาก โดยค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยยุค 2008-2021 อยู่ที่ระดับ 0-2% เท่านั้นซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่ควรจะเป็นในระยะยาว ที่สำคัญมีช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยเป็น 0% อยู่นานหลายปี หากต้นทุนทางการเงินถูก ก็ส่งผลเป็นลูกโซ่ให้เกิดภาวะ “เงินได้มาง่าย” เป็นแรงจูงใจให้บริษัทก่อหนี้สูง มีการซื้อหุ้นคืน มีการใช้จ่ายไปในโปรเจคที่มีความเสี่ยงสูง มีการต่อลมหายใจของบริษัทที่ไม่ได้มีความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ทำให้นักลงทุนแบกรับความเสี่ยงสูงขึ้นมาก พูดง่าย ๆ คือนักลงทุนจำเป็นต้องยอมลงทุนในบริษัทที่มูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง (Price Earning Ratio แพง) เพราะหวังการเติบโตโดยไม่ได้คำนึงถึงจุดคุ้มทุนมากนักเพราะเชื่อว่าสถานการณ์ดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินจะถูกต่อไปเรื่อยๆ

ทำให้ทศวรรษก่อนหน้านี้ ตลาดจึงให้ผลตอบแทน “ดีกว่าความเป็นจริง” แต่หากกลับมามองสถานการณ์ปัจจุบันที่เทรนด์ดอกเบี้ยกลับตัวเป็นขาขึ้น ซึ่งต่อให้ลดลงในอนาคตดอกเบี้ยก็อาจทรงตัวในระดับที่สูงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาทำให้ภูมิทัศน์การลงทุนและทัศนคติต่อการเลือกสินทรัพย์ลงทุนของนักลงทุนสถาบันและรายย่อยทั่วโลกอาจเปลี่ยนไปอย่างถาวร

สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ “นักลงทุนจะเรียนรู้เรื่องจุดสูงสุด สู่สามัญ” โดยเฉพาะนักลงทุนสายลงทุนในหุ้นเติบโตสูงที่ซื้อหุ้นที่ราคาสูง น่าจะกลับมามองว่าเงินที่จ่ายไปได้กำไรกลับมาเท่าไหร่ และเริ่มมองหาหุ้นที่ Valuation มากขึ้น โดยใช้ตัวชี้วัดที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อวิเคราะห์มูลค่ากว่าทศวรรษก่อนหน้า

อีกทั้งยังมองว่าหลังจากนี้นักลงทุนจะระมัดระวังความเสี่ยงเฉพาะตัวของ “หุ้นรายประเทศ” โดยเฉพาะประเทศขนาดกลาง เล็ก หรือ “ประเทศที่มีระบบปกครองแบบที่นักการเมืองมีผลต่อนโยบายประเทศสูง” เช่น จีน รัสเซีย เวียดนาม เนื่องจากหุ้นในประเทศดังกล่าวมีความเสี่ยงเฉพาะตัวที่เปราะบางค่อนข้างมากจากนโยบายของภาครัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัจจัยของบริษัทอย่างรุนแรง ยกตัวอย่าง…. กรณีธุรกิจการศึกษาออนไลน์ที่รัฐบาลจีนประกาศว่าธุรกิจดังกล่าวไม่ควรทำเพื่อแสวงหากำไร และเข้ามาแทรกแซง ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ดิ่งลงอย่างหนัก เพราะมีปัจจัยทางด้านนโยบายเข้ามาเกี่ยวข้อง

มาถึงตรงนี้… เชื่อว่านักลงทุนหลาย ๆ ท่านคงเข้าใจเรื่องของภูมิทัศน์การลงทุน ทัศนคติ รวมถึงจิตวิทยาของนักลงทุนที่มีต่อการลงทุนไม่มากก็น้อย ซึ่งหากนักลงทุนสามารถตอบคำถามต่อไปนี้ได้ คุณเองก็อาจเป็นหนึ่งคนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างดีเยี่ยมในตลาด

1. หุ้นหรือตราสารหนี้ระดับความถูก ความแพงในปัจจุบันเป็นอย่างไร หากเทียบกับค่าเฉลี่ยในระยะยาว เทียบกับภูมิภาค เทียบกับประเทศอื่นๆในโลก

2. แนวโน้มในระยะ 1-2 ปีข้างหน้ามองเศรษฐกิจประเทศที่ลงทุนจะดีขึ้นหรือแย่ลง หรือมีโอกาสดีขึ้นมากกว่าคาด หรือแย่กว่าคาดหรือไม่ ราคาสะท้อนไปแล้วหรือยัง เช่น ถ้ามองเศรษฐกิจแย่ลง กำไรสุทธิต่อหุ้นจะลดลง -20% แต่ราคาดัชนีหุ้นดังกล่าวลบลงมา -35% และอาจเป็นการลงทุนที่ดีเพราะคนมองลบมาก ๆ ไปแล้ว แต่กลับกันถ้าหุ้นพึ่งลงเพียง -10% จากจุดสูงสุดแต่มีความเสี่ยงในระยะยาวที่กำไรต่อหุ้นจะถูกปรับลดลงแรง ๆ หรือคนอาจกลัวจนเทขายให้ Valuation หุ้นตกลงมาอีกครั้งหนึ่ง แบบนี้อาจยังไม่ควรลงทุน

3. เข้าใจตนเองในเรื่องของการลงทุนทั้งความสามารถในการรับความเสี่ยง ความรู้ความเข้าใจในตลาด ความแอคทีฟในการติดตาม การแก้ปัญหาในกรณีการลงทุนไม่เป็นไปอย่างที่คิด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจตนเองเป็นอย่างมาก.