เมื่อวันที่ 9 ก.พ. นายโกศล ปัทมะ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์พรรค รทสช. จะปราศรัยใหญ่ที่ จ.นครราชสีมา วันที่ 25 ก.พ. 66 ว่าในฐานะ ส.ส.โคราช พรรค พท. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมาปราศรัยที่โคราช จะได้พูดกับปากตัวเองให้คนโคราชและคนอีสานทราบว่า เป็นนายกฯ และรัฐบาลมา 8 ปี ทำไมถึงปล่อยให้การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช ล่าช้าไป 3-4 ปี แล้วตอนนี้ยังจะขอต่อเวลาไปอีก 2 ปี ถึงจะก่อสร้างเสร็จ การก่อสร้างล้าช้าเช่นนี้ เป็นการทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจของพี่น้องชาวอีสานอย่างยิ่ง รวมถึงประชาชนต้องทุกข์ในการเดินทาง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาวต้องใช้เวลา 7-11 ชั่วโมง แทนที่ประชาชนจะได้ใช้เวลาอย่างมีความสุขกับครอบครัว แต่ต้องมาติดบนถนนเพราะความล่าช้าของรัฐบาล

“ประเด็นนี้ตนเชื่อว่าหากพรรค พท. แลนด์สไลด์ได้เป็นรัฐบาล จะเร่งรัดติดตามการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายดังกล่าวจเสร็จภายใน 6 เดือน นอกจากนั้นยังไม่สนใจแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องโคราชที่ได้ยื่นร้องเรียนให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช ช่วงผ่านเมือง แต่ไม่มีความคืบหน้าและไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการให้กับพี่น้องประชาชนชาวโคราชแต่อย่างใด”

นายโกศล กล่าวอีกว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฟังจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ อีกเรื่องคือการทำงานมา 8 ปี ใช้งบประมาณไปมหาศาล แต่ทำไมประชาชนยังยากจนอยู่เหมือนเดิม นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ บอกจะปราบปรามทุจริตอย่างเด็ดขาด แต่กลับตั้งคนใกล้ชิดที่มีข่าวพัวพันกับเรื่องการตบทรัพย์จนต้องออกไปครั้งหนึ่งแล้ว วันนี้กลับตั้งเข้ามาอีกรอบ โดยไม่สนใจความรู้สึกประชาชน เช่นนี้แล้วประชาชนจะเชื่อมั่นนายกฯ ในเรื่องนี้ได้อย่างไร

ทางด้าน นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการขยายระยะเวลาก่อสร้างและงบประมาณการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช โดยเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา มติ ครม. อนุมัติงบประมาณ 4,971 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างและขยายเวลาในการก่อสร้าง จากเดิมต้องแล้วเสร็จในปี 63 ออกไปเป็นปี 68 โดย รมว.คมนาคม ให้เหตุผลว่า มีอุปสรรค 4 ประเด็น ได้แก่ 1. สภาพพื้นที่ในสนามที่ทำการ ก่อสร้างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 2. ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน 3. ปรับรูปแบบให้เหมาะสม สอดคล้องกับโครงสร้างสาธารณูปโภค หรือความจำเป็นของหน่วยงานที่โครงการตัดผ่าน 4. ปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า แม้หลักการและเหตุผลดูเป็นการขอขยายระยะเวลาและงบประมาณในการก่อสร้างทั่วไป แต่ตนมองว่ามีความซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะต้องย้อนไปตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 57 รัฐบาล คสช. เข้ามามีอำนาจ และอนุมัติโครงการเมกะโปรเจคท์ ซึ่งโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช เป็นเมกะโปรเจคท์แรกของรัฐบาล คสช. มีการโฆษณามาโดยตลอดว่าใกล้เสร็จและพร้อมใช้งาน โดยแผนเดิมมอเตอร์เวย์เส้นนี้จะแล้วเสร็จในปี 63 แต่ปรากฏว่าขยายเวลาออกไปถึง 5 ปี เป็นปี 68 

“เบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้เกิดปัญหางบบานงานช้า เพราะรัฐบาล คสช. อนุมัติก่อสร้างเมื่อปี 59 โดยใช้แบบการก่อสร้างเมื่อปี 2551 แต่ปรากฏว่าแบบนั้นมีปัญหา จึงต้องสร้างไปแก้ไป รัฐบาล คสช. ที่รัฐประหารแล้วอ้างว่ามาเพื่อปราบโกง ก็ไม่ได้ปราบโกงจริง แต่เข้ามาเร่งอนุมัติโครงการ หากินกับการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ แทนที่จะมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างที่เคยสัญญาไว้ รัฐบาล คสช. หยิบโครงการนี้ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เอามาซอยย่อยกว่า 40 โครงการ ราคากลางโดยรวมอยู่ที่ 59,512 ล้านบาท ประมูลได้ต่ำกว่าราคากลางเพียง 1.12% แต่ที่สาหัสจริงๆ ที่ทำให้งบบานคือเรื่องแบบที่ไม่พร้อมใช้งาน” 

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ตนต้องการเห็นผู้รับผิดชอบโครงการเมกะโปรเจคท์นี้ เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ล้มเหลว ดังนั้น รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องออกมาอธิบายให้ชัดเจน และต้องมีคนรับผิดชอบภาษีประชาชนกว่า 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าเสียโอกาสต่างๆ ที่พี่น้องประชาชนไม่ได้ใช้โครงการ โครงการก็เสื่อมสภาพ ถูกลอบขโมยเหล็ก ลักสายไฟ ซึ่งตนต้องการความชัดเจนจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และต้องการฝากคำถามสำคัญ 2 ข้อ คือ 1. งบประมาณที่เพิ่มขึ้นอีก 4,971 ล้านบาท ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และ 2. แบบที่ใช้ในการอนุมัติก่อสร้างเมื่อปี 2559 เป็นแบบเก่าซึ่งออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2551 ใช่หรือไม่ ขอให้สื่อมวลชนทวงถามความชัดเจนและจับตาดูความล้มเหลวของเมกะโปรเจคท์นี้ไปพร้อมกัน