จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ร่วมกับกรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ทหาร สามารถตรวจยึดสารเบนซิลไซยาไนด์ หนัก 25,020 กิโลกรัม ได้ที่ด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก ก่อนถูกส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยสารเคมีดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นสารตั้งต้น P2P ซึ่งใช้ผลิตยาเสพติดในกลุ่มเมทแอมเฟตามีน (ไอซ์และยาบ้า) ในปริมาณนี้หากหลุดรอดเข้าไปยังแหล่งผลิต จะสามารถผลิตไอซ์ได้มากถึง 11,800 กิโลกรัม หรือยาบ้า 590 ล้านเม็ด

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ประจำด่านศุลกากร สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ตรวจสอบสินค้าผ่านแดนในตู้คอนเทเนอร์ของบริษัทขนส่งเอกชนระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง พบเอกสารสำแดงระบุว่า “สารเบนซิลไซยาไนด์” (Benzyl Cyanide) รวมน้ำหนัก 25,020 กิโลกรัม ซึ่งเป็นสารเคมีควบคุมพิเศษตามกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากห้วงที่ผ่านมาปรากฏข้อมูลว่า สารเคมีดังกล่าวถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติดได้ จึงได้ทำการอายัดสารเคมีดังกล่าวไว้ เพื่อตรวจสอบตามขั้นตอนโดยละเอียด

นายวิชัย กล่าวอีกว่า ต่อมาตรวจสอบพบว่าสารเคมีดังกล่าว มีผู้ซื้อเป็นบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศจีน สั่งซื้อมาจากบริษัทผู้จำหน่ายรายหนึ่งในประเทศอินเดีย ก่อนขนส่งทางเรือนำเข้าประเทศไทยที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จากนั้นขนส่งทางรถบรรทุกมายังด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก เพื่อเตรียมส่งออกไปยังประเทศเมียนมา  อย่างไรก็ตามรัฐบาลโดยการผลักดันและเสนอโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้กำหนดมาตรการควบคุมสารเคมีดังกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบและอนุมัติแนวทางการควบคุมสารโซเดียมไชยาไนด์ สารเบนซิลคลอไรด์ และสารเบนซิลไซยาไนด์ ซึ่งภายหลังมีมาตรการควบคุมสารเคมี กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมศุลกากร จึงได้ชะลอมีการส่งออกสารโซเดียมไซยาไนด์กว่า 220 ตัน และครั้งนี้อายัดสารเบนซิลไซยาไนด์ อีกกว่า 25 ตัน ซึ่งหากตรวจสอบพบว่า การนำเข้าสารเคมีดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตการนำเข้า-ส่งออกจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือมีเจตนาสำแดงเท็จเป็นสินค้าชนิดอื่น เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมศุลกากรจะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสำนักงาน ป.ป.ส. จะประสานข้อมูลกับประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง ร่วมตรวจสอบเฝ้าระวังไม่ให้มีการนำสารเคมีไปใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติดร่วมกันต่อไป

นายวิชัย กล่าวต่อว่า ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติด กลุ่มเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้าและไอซ์) จำนวนมาก โดยใน 3 ปีหลังมานี้มียาบ้าถูกนำเข้าประเทศเฉลี่ยมากกว่าปีละ 450 ล้านเม็ด ไอซ์มากกว่า 21 ตัน แม้ประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขงจะพยายามสกัดกั้นสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์แล้วก็ตาม แต่กลุ่มขบวนการผลิตยังสามารถแสวงหาสารเคมีชนิดใหม่มาทดแทนได้ตลอดเวลา รวมถึงสารเบนซิลไซยาไนด์ โซเดียมไซยาไนด์ และเบนซิลคลอไรด์ ด้วย ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์พบว่าสารเคมีทั้งสามชนิดนี้สามารถนำไปผ่านกระบวนการผลิตเป็นสารอัลฟา-เฟนิลอาซีโตอาซีโตไนไตล์ (APAAN) ก่อนจะมาเป็นสารเฟนิล-2-โพรพาโนน หรือ P2P ซึ่ง”สาร P2P” เป็นสารตั้งต้นสำคัญในกระบวนการผลิตเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้าและไอซ์.