เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน ศาลนัดสอบข้อเท็จจริงโจทก์คดีหมายเลขดำ อท.23/2566 ที่ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) รวมทั้ง ชุดจับกุม และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กับพวก รวม 7 คน เป็นจำเลย ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดต่อเสรีภาพ, ทำพยานหลักฐานเท็จฯ, เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ บุกรุก ซ่องโจร ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

จากกรณี จำเลยทั้งหมด มีการวางแผนล่อลวงให้รับเงิน และยังมีการเผยแพร่ข้อมูลบันทึกวิดีโอให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง

โดยเมื่อเวลา 08.20 น. นายรัชฎา พร้อมด้วยทนายความเดินทางมาถึงศาล พร้อมระบุว่า วันนี้ศาลนัดมาไต่สวนฝ่ายโจทก์ หลังจากก่อนหน้านี้ส่งทนายความมายื่นฟ้องให้ดำเนินคดีกับทั้ง 7 คน ตนยืนยันว่า ไม่ได้มีการเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการในสังกัดตามที่ถูกกล่าวหา ตนปฏิเสธมาโดยตลอด

นายรัชฎา กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ถูกตำรวจ และชัยวัฒน์ เข้าจับในห้องทำงานนั้น คาดว่าเกิดจากการที่นายชัยวัฒน์ไม่พอใจที่ถูกตนเองตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่อง เบิกจ่ายโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4,200 ไร่ เป็นเงินกว่า 14 ล้านบาท เมื่อปี 2562 และคดียังอยู่ในชั้นของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งใกล้จะหมดอายุความในวันที่ 29 มีนาคม 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีที่ศาลนัดสอบข้อเท็จจริงโจทก์ในวันนี้เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำสั่งชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้อง และชี้ช่องในประเด็นดังนี้ 

เนื่องจากโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 79 ซึ่งเป็นเพียงบทกำหนดโทษ แต่ในคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดเจนถึงพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 7 กระทำการใดอันเป็นความผิดตามมาตราใดที่จะขอให้ลงโทษตามมาตรา 79 ทั้งบทกำหนดโทษตามมาตรา 79 ดังกล่าวเป็นบทกำหนดโทษของ ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ ที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.นี้ ดังนั้นโจทก์ต้องบรรยายให้ชัดเจนว่าจำเลยทั้ง 7 เป็น ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด อย่างไร และมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้อย่างไร และสิ่งใดที่ถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้อย่างไร และจำเลยทั้ง 7 กระทำการอย่างใดอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ที่จะทำให้จำเลยทั้ง 7 ต้องรับผิดตามมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ.นี้

โจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 25, 28 และ 33 โดยโจทก์แถลงว่าเป็นเพียงการอ้างถึงสิทธิของโจทก์ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ประสงค์ขอให้ลงโทษ จึงให้แก้ไขคำขอท้ายฟ้องโดยตัดข้อความเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ออก

โจทก์มาแถลงข้อเท็จจริงและชี้ช่องพยานหลักฐานด้วยตนเองในวันที่ 23 ก.พ. เวลา 09.30 น. ในประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 164, 179, 200, 210, 310, 364 และ 365 เกี่ยวกับพฤติการณ์ทั้งก่อนและหลังจากที่โจทก์ถูกจับกุมเพิ่มเติม เนื่องจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยตนเอง

ศาลจะมีหนังสือไปถึง ‘กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ พร้อมแนบสำเนาบันทึกการจับกุม รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ฉบับลงวันที่ 27 ธ.ค. 2565 เพื่อให้ชี้แจงข้อมูลและจัดส่งเอกสาร

มูลเหตุและรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ทั้งก่อนและในขณะเข้าตรวจค้นและจับกุม รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2565 ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามสำเนาบันทึกการจับกุม

การตรวจค้นและจับกุมรัชฎา กระทำโดยมีหมายค้นและหมายจับหรือไม่ อย่างไร

มีการบันทึกภาพและเสียงขณะตรวจค้นและจับกุมรัชฎาหรือไม่ หากมี ได้มีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ และผู้ใดเป็นผู้เผยแพร่ และเป็นการกระทำที่ขัดต่อประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 29 หรือไม่อย่างไร

นอกจากการจับกุม รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา พร้อมยึดของกลางเป็นเงินสด 98,000 บาท ตามสำเนาบันทึกการจับกุมที่แนบมาพร้อมนี้ ได้ตรวจยึดของกลางอื่นๆ จากโจทก์ในวันดังกล่าวได้อีกหรือไม่ อย่างไร

และกำหนดนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 09.30 น.