เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ถึงการระบาดของไข้หวัดนก ในประเทศกัมพูชา ระบุว่า

“รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชาเมื่อวานนี้ พบเคสเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เด็กหญิงรายนี้เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. ด้วยอาการไข้สูง ไอ และเจ็บคอ หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่น แล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการหายใจติดขัดผิดปกติ ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเด็กแห่งชาติที่กรุงพนมเปญ วันที่ 21 กพ. แพทย์ส่งตัวอย่างไปตรวจ และผลออกมาวันรุ่งขึ้นพบว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 โดยผู้ป่วยเสียชีวิต

ในช่วงที่ H5N1 มีการระบาดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดและในหลายพื้นที่ การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนในภูมิภาคใกล้เคียงกับประเทศไทยจึงเป็นอะไรที่ต้องเฝ้าระวังอย่างจริงจังครับ การติดเชื้อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดีขึ้น ทำให้ส่วนตัวผมกังวลไปที่สุกร เพราะสุกรเป็นสิ่งมีชีวิตที่ติดไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี และสามารถเป็นแหล่งสร้างไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ เหมือนกรณีไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็มาจากสุกรสู่คนเช่นกัน

ต่อมา ดร.อนันต์ โพสต์อีกว่า “ตอนนี้ H5N1 ยัง “ไม่” พบในหมูนะครับ เพียงแค่อยากให้เฝ้าระวังว่าไวรัสอาจปรับตัวมาติดหมูได้ ซึ่งอาจติดคนง่ายขึ้น #หมูไทยยังปลอดโรคครับ”

ก่อนที่จะโพสต์ล่าสุดว่า “ตอนนี้ดูเหมือนข่าวไข้หวัดนกในกัมพูชาจะมีทั้งจริงและไม่จริงครับ เท่าที่สืบค้นดูข่าวจริงคือ มีหลังจากเคสเด็กติดเชื้อเสียชีวิต ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิด 12 คน โดย 4 คน มีอาการเข้าข่ายน่าสงสัยและได้นำตัวอย่างไปตรวจ confirm ผลแล้ว รอฟังผลครับ ตามข้อเท็จจริงนี้ยังมีผู้ติดเชื้อยืนยันแค่ 1 คน (คือน้องที่เสียชีวิต) อีก 4 คน ที่มีอาการคือเข้าข่ายน่าสงสัย ที่เหลือคือผู้สัมผ้สผู้ป่วยแต่ไม่ติดหรือแสดงอาการ

จากการสื่อสารที่ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 12 ราย ยังไม่เป็นความจริงครับ การระบุเกินข้อเท็จจริงเกิดผลเสียครับ เพราะ การแพร่จากคนสู่คนของ H5N1 ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนต่อการให้ข่าวมาก…สื่อไทยควรระวังอย่างยิ่งครับ”..