เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 28 ก.พ. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งได้เข้าสู่การพิจารณาเรื่องด่วน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เมื่อการทำงานเกิดข้อขัดข้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ได้คำนึงถึงผลร้ายที่จะตามมาหากปล่อยให้ดำเนินการด้วยความไม่พร้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และสาธารณะโดยตรง ทั้งการบันทึกพยานระหว่างควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ จนอาจทำให้เกิดการโต้แย้งในชั้นดำเนินคดี ส่งผลให้การจับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย การบังคับใช้ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นผลร้ายแรงต่อสังคม อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ทั้งทางอาญา และทางวินัย

ดังนั้นจึงถือว่ามีความเร่งด่วนอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ต้องออก พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เพื่อเป็นชะลอการใช้มาตรา 22-25 เป็นการชั่วคราว ให้หน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ส่วนมาตราอื่นๆ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 66 หากเจ้าหน้าที่กระทำผิด จะต้องถูกดำเนินคดี และลงโทษตามกฎหมาย การขอชะลอบางมาตรา ไม่ได้ทำให้เกิดการงดเว้นการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ตนจึงขอให้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา พ.ร.ก.ฉบับนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่ลุกขึ้นมาอภิปรายส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายออกไป

จนกระทั่งเวลา 13.20 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งว่า ขณะนี้มีสมาชิกจากฝ่ายรัฐบาลเข้าชื่อ ขอให้ส่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จากการตรวจรายชื่อในคำร้อง ปรากฏว่ามีจำนวนสมาชิกตรวจสอบลายมือชื่อจำนวน 100 คน ซึ่งไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส. เท่าที่มีอยู่ทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด จึงให้ที่ประชุมสภารอการพิจารณาก่อน จนกว่าจะศาลจะมีคำวินิจฉัย

ทางด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า น่าเสียใจที่กระบวนการพิจารณาของเราไม่แล้วเสร็จ แนวโน้มการอนุมัติจากการฟังสมาชิกทุกคนคดค้าน ดังนั้น การลงมติเสียงส่วนใหญ่น่าจะไม่อนุมัติ การยื่นเรื่องนี้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยของสมาชิกฝ่ายรัฐบาล จำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าสภาแห่งนี้จะอนุมัติ พ.ร.ก. ซึ่งยื่นโดย ครม. ที่ควบคุมเสียงข้างมากในสภา นั่นหมายถึงต้องการให้มีการอนุมัติ แต่เมื่อคาดการณ์ว่า พ.ร.ก. จะถูกคว่ำ ก็ไปอาศัยกลไกศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดึงจังหวะเวลาออกเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์รัฐสภาว่า ชงโดย ครม. กินโดย ครม. และอุ้มหายโดย ครม. เอง สิทธิในการยื่นเพื่อไม่ให้อนุมัติควรเป็นเสียงตรงข้ามว่าไม่ควรอนุมัติ ถ้ารัฐบาลอนุมัติ ฝ่ายค้านจึงจะยื่น ทุกคนเห็นเหมือนหมดว่า “ไม่อนุมัติ”

“ดังนั้นการยื่นครั้งนี้แปลเจตนาอื่นไม่ได้ นอกจากอาศัยกลไกของศาลที่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 60 วัน ในการวินิจฉัย หรือแปลว่า มีเวลา 2 เดือนระงับ พ.ร.บ. นี้ไว้ ระหว่างนี้ก็ใช้ พ.ร.ก. ที่รัฐบาลออกไว้ ส่งต่อไปถึงรัฐบาลชุดหน้า ถ้าในช่วงเลือกตั้ง เกิดความเสียหายจากการระงับใช้ พ.ร.บ. สมาชิกที่ร่วมลงชื่อเพื่อยื่นต่อศาลต้องรับผิดชอบ” นพ.ชลน่าน กล่าว

ส่วน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้ลงชื่อ เพราะเห็นว่าการออก พ.ร.ก. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 จึงมีความจำเป็นต้องยื่นต่อศาลเพื่อวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.นี้ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการ พวกตนเป็น ส.ส. มีจิตสำนึกในหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพของประชาชน ฉะนั้นจึงอยากให้ผู้นำฝ่ายค้านเคารพสิทธิในการดำเนินการเข้าชื่อ

“การยื่นให้ศาลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 เป็นการลดระยะเวลาในการคุ้มครอง ถ้าปล่อยไปกฎหมายจะบังคับใช้เดือน ต.ค. แต่ถ้ายื่นศาลใช้เวลาเพียง 2 เดือน จะมีคำวินิจฉัยออกมา และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันยื่นร้องกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอ” นายชินวรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายการประชุม นายชวน กล่าวว่า ขอบคุณทุกฝ่ายตลอดระยะเวลา 4 ปี ทุกฝ่ายทำงานหนัก ทราบดีเพราะเป็นผู้แทนมา 16 สมัย ประธานรัฐสภา 2 ครั้ง ที่จริงควรประกาศผลงาน อยากบอกว่าสิ่งที่เป็นผลดีเกิดขึ้นต่อประชาชน ท่านทั้งหลายเป็นผู้ริเริ่ม สุดท้ายหวังว่าแม้เราจะไม่มีโอกาสกลับมาทุกคน แต่ขอให้สมาชิกทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน คนที่ค้านวันนี้อาจได้เป็นรัฐบาลในวันข้างหน้า คนที่เป็นรัฐบาลขณะนี้อาจเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น เราพูดอะไรไปว่าไม่ดีวันนี้ วันนั้นก็ต้องไม่ดีตามด้วย อะไรที่ดีวันนี้ วันนั้นก็ต้องดี ขออวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จ

จากนั้น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้อ่านพระบรมราชโองการพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภา สมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2566 จากนั้นได้สั่งปิดประชุมในเวลา 13.41 น.