เมื่อวันที่ 8 มี.ค. รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างหนักในขณะนี้ โดยระบุว่า

“หลัง call out ให้พวกมีอำนาจหันมาสนใจ ทั้งที่รู้ว่าเขาสนใจเรื่องอื่นกันมากกว่า ได้ทบทวนข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติม พบบทความเรื่องผลของ PM 2.5 ต่อทารกในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก ยิ่งตอกย้ำความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดีกว่าการย้ำกรอกหูประชาชนให้ “ดูแลตนเอง”

จากการติดตามเด็กอนุบาลจำนวน 115,023 คน จาก 551 เมืองในประเทศจีน พบว่าการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ที่สูงตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก สัมพันธ์กับการมีคุณภาพการนอนในวัยเด็กที่แย่ลง โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับฝุ่นที่สูงในช่วงอายุ 0-3 ปี จะเกิดมากกว่าถ้าสัมผัสในช่วงที่ยังไม่คลอดออกมา ความผิดปกติที่เกิดขึ้นทำให้เด็กมีปัญหาการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน และภาวะง่วงนอนมากตอนกลางวัน เด็กที่แรกคลอดไม่แข็งแรงต้องเข้าไอซียูจะพบความผิดปกติได้มากขึ้น ที่น่าแปลกใจคือเด็กที่กินนมแม่จนถึง 6 เดือน ก็พบความผิดปกติมากขึ้นด้วย (คิดเอาเองว่าอาจได้รับ PM 2.5 เพิ่มทางน้ำนมแม่)

ในฐานะหมอโรคปอดและหมอโรคจากการนอนหลับ สุขภาวะการนอนของเด็กที่ถูกรบกวนโดยเฉพาะการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน อาจทำให้พัฒนาการทางสมองถูกกระทบกระเทือนตามไปด้วยว่า แต่จะมีใคร “รู้หน้าที่” ทำเพื่ออนาคตเยาวชนของชาติเราบ้าง #ควบคุมฝุ่นปกป้องสมองเด็ก”..

ขอบคุณภาพประกอบ : นิธิพัฒน์ เจียรกุล