เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 15 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เมรุวัดบ้านซำเม็ง ต.เสาธัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายบุญเลิศ อุ่นอ่อน นางแหลม อุ่นอ่อน พ่อและแม่ของ น.ส.จุฑาภรณ์ อุ่นอ่อน หรือ ผอ.อ้อย ที่ถูก ร.อ.ศุภชัย ภาโส หรือ ผู้กองเหน่ง นายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ชายแดนเขาพระวิหาร ฆ่าแล้วนำร่างไปทิ้งที่ป่าสามเหลี่ยมมรกต ชายแดนไทย-ลาว ด้าน อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ญาติติดตามค้นหาจนกระทั่งวันที่ 23 ต.ค. 60 จึงพบกะโหลกศีรษะ โครงกระดูก เส้นผม เข็มขัดนาฬิกาของ ผอ.อ้อย ญาติได้นำกะโหลกศีรษะ กระดูก เส้นผมของ ผอ.อ้อย บรรจุเก็บไว้ และขุดขึ้นมาบำเพ็ญกุศลฌาปนกิจ โดยมี นางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 เป็นประธานในพิธี นายวิทยา เกษแก้ว สามีของ ผอ.อ้อย ได้บวชหน้าไฟอุทิศส่วนกุศลให้ภรรยา มี ด.ญ.ไอวริญ เกษแก้ว อายุ 13 ปี ลูกสาวของ ผอ.อ้อย และนายวิทยา ร่วมในพิธี

จากคดี น.ส.จุฑาภรณ์ อุ่นอ่อน หรือ ผอ.อ้อย ผอ.กองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม อบต.ชำ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ที่หายตัวไปนานกว่า 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจและญาติพี่น้องออกตามหา ผอ.อ้อย ที่หายไปอย่างลึกลับ จนกระทั่งวันที่ 23 ต.ค. 60 จึงพบกะโหลกศีรษะ โครงกระดูก เส้นผม เข็มขัดนาฬิกาของ ผอ.อ้อย ในป่าใกล้ชายแดนสามเหลี่ยมมรกต อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี กลายเป็นคดีฆาตกรรมที่ซับซ้อน มี ร.อ.ศุภชัย ภาโส หรือผู้กองเหน่ง ตกเป็นผู้ต้องสงสัย พนักงานสอบสวนจึงได้เรียก ร.อ.ศุภชัย มาพบที่ บก.ภ.จว.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก คือ 1.ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา 2.หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 3.ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 62 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาประหารชีวิต ร.อ.ศุภชัย ภาโส หรือผู้กองเหน่ง จำเลยอุทธรณ์ จนกระทั่งวันที่ 1 ก.ย. 63 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือให้ประหารชีวิตผู้กองเหน่ง จำเลยฎีกา และเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 65 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คือให้ประหารชีวิตผู้กองเหน่งสถานเดียว

นางแหลม อุ่นอ่อน แม่ของ ผอ.อ้อย กล่าวว่า วันนี้ได้ทำพิธีฌาปนกิจศพลูกสาว หลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว และหลังศาลฎีกาพิพากให้ประหารชีวิตคนก่อเหตุ ก็รู้สึกดีใจ ที่ศาลท่านให้ความยุติธรรม จากนี้ไปก็เป็นเรื่องของผู้ก่อเหตุที่จะได้รับผลที่ได้กระทำไว้

ด้าน นายประสิทธิศักดิ์ ฝอยทอง ประธานสภาทนายความจังหวัดกันทรลักษ์ ซึ่งทำหน้าที่ทนายความฝ่ายโจทก์ กล่าวว่า ตนเป็นโจทก์ร่วม คดีนี้ ช่วงแรกๆ ก็รู้สึกลำบากใจเหมือนกัน เนื่องจากคดีไม่มีประจักษ์พยาน มีแต่พยานแวดล้อม พยานทางเทคนิค คดีนี้ทำงานยากมาก และจำเลยเป็นคนมีสี เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่สุดท้ายทางผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ช่วยเหลือผู้กระทำความผิด คดีจบด้วยศาลสั่งประหารชีวิต จึงทำให้สบายใจมากที่สุด.