เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 66 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการด้านการเกษตร ในฐานะคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงยุทธศาสตร์ “เกษตรกรมั่งคั่ง” ของพรรคฯ ว่าคือ การผ่าตัดโครงสร้างการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ โดยประเมินจากพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ 140 ล้านไร่ สร้างจีดีพี 1.4 ล้านล้านบาท หรือทำรายได้เฉลี่ยไร่ละ10,000 บาท ถือว่าต่ำ! ดังนั้น จึงต้องการขยับขึ้นเป็น 3 เท่า (เพิ่มอีกไร่ละ 20,000บาท) ภายใน 4 ปี ว่าการจะไปสู่จุดนั้นต้องเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตร ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างใน 5 หัวข้อ ที่บอกไว้วันก่อน

นายสัตวแพทย์ชัย ย้ำว่า ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ปัญหาจะวนลูปอยู่แบบนี้ไปตลอด เพราะอะไร เพราะประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรของเราต่ำมาก ยังไปไม่ถึง 1,200 กก./ไร่

เมื่อผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ ไม่ถึง 1,200 กก./ไร่ รายได้จึงไม่พอ สุดท้ายต้องการราคาดี ๆ เข้ามาช่วยอุดหนุน ด้วยการแทรกแซงตลาด เรียกว่าเอาเงินมาอุดหนุนสินค้าเกษตรทุกปี ปีละ 1.5 แสนล้านบาท เฉพาะข้าวเปลือกประมาณ 1 แสนล้านบาท คุณไม่เกรงใจคนเสียภาษีบ้างหรือที่ต้องเอาเงิน 1.5 แสนล้านบาท/ปี มาอุดหนุนสินค้าเกษตร โดยไม่มีแผนการทำให้ดีขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างอะไรกันเลย ต้องอุดหนุนกันทุกปีไม่รู้จักจบ


“ไม่ว่าจะรับจำนำ หรือโครงการประกันราคาในปัจจุบัน เราเล่นกันที่เงื่อนไขราคาเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพการผลิต และต้นทุนการผลิต โครงการรับจำนำทำให้ชาวนามีเงินในกระเป๋ามากหน่อย ทำให้พ่อค้าคนกลาง-โรงสีข้าวต้องซื้อข้าวในราคาแพง แต่การประกันราคาทำให้ชาวนาไม่สนใจเรื่องการต่อรองราคาเลย เพราะมีรัฐบาลมาจ่ายส่วนต่างให้ ขณะที่พ่อค้า-โรงสีข้าวชอบโครงการนี้ เพราะเขาได้ซื้อของถูก ต่อไปอาจไม่มีโครงการเหล่านี้แล้ว แต่จะเป็นการแทรกแซงตลาดแบบบูรณาการในระยะเวลาสั้น ๆ เข้ามาแทน ก่อนก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคการเกษตร”

นายสัตวแพทย์ชัย กล่าวต่อไปว่า ปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่คืออายุมาก 50 ปีขึ้นไป มีน้อยที่เกษตรกรอายุช่วง 35-40 ปี แม้ภาครัฐจะจัดอบรมสัมมนาให้เกษตรกรบ่อย ๆ บางคนไปเป็น 10 ครั้ง แต่ไปไม่ถึงเทคโนโลยี เมื่อไปไม่ถึงเทคโนโลยีจะรู้สึกผิดหวัง ไม่ศรัทธากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เรียกว่าหมดแรงบันดาลใจ หมดไฟที่จะใช้เทคโนโลยี สู้วิถีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิมไม่ได้ หรือใช้เทคโนโลยีต่ำมาก

ยกตัวอย่างเรื่องรถไถนา ก็เป็นรถไถนาประเภทแรงม้าต่ำ ๆ ไถพื้นที่ได้ไม่ลึกถึง 30 ซม. เวลาไถกลบตอซังข้าว-ข้าวโพด กำลังเครื่องยนต์จึงไม่พอ สุดท้ายต้องเผาตอซัง บางรายมีความรู้แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นเกษตรแปลงเล็ก ๆ รถไถใหญ่ ๆ ลงไปก็ไถไม่ได้เพราะติดคันนา แต่ถ้าเป็นเกษตรก้าวหน้า ใช้เทคโนโลยี ทำเป็นเกษตรแปลงใหญ่จริง ๆ ใช้รถไถใหญ่ ๆ สามารถไถกลบตอซังข้าว-ข้าวโพดได้เลย ไม่ต้องเผาตอซัง แถมยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ด้วย

ตนย้ำว่า ต้องเป็นเกษตรแปลงใหญ่ระดับ 1,000 ไร่ เราจะทำเป็นโมเดลขึ้นมา 10 ศูนย์ทั่วประเทศ เรียกว่า “ศูนย์เกษตรก้าวหน้า” เพื่อใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้โนว์ฮาวเข้ามาควบคุมน้ำ-ปุ๋ยให้มีความแม่นยำ ด้วยการบริหารในรูปแบบบริษัท แล้วเกษตรกรไปเป็นหุ้นส่วน เอาลูกหลานชาวนาที่เก่ง ๆ มาบริหารก็ได้ หรือให้บริษัทเอกชนที่เก่ง ๆ เข้ามาช่วยบริหาร ที่ผ่านมามีคนกลุ่มเดียวคือ “เอ็นจีโอ” ที่ห่วงใยเกษตรรายย่อย กลัวว่ารายย่อยจะถูกนายทุนเอาเปรียบ กลัวทุนนิยมสามานย์ คุณไม่ต้องกลัวตรงนี้ เหมือนที่ คุณอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พูดว่า “ทุนนิยมที่มีหัวใจก็มี” มีเอกชนที่เขาต้องการแบบวิน ๆ คือ ต้องการทั้งกล่องและเงิน รายย่อยต้องจับมือกับเอกชนที่เก่ง ๆ ถ้ารายย่อยมัวไปจับมือแต่ข้าราชการ แล้วไปรอดหรือเปล่า?

ที่สำคัญมากคือ ต้องทำอย่างอื่นทดแทนการปลูกข้าว ที่มีผลผลิตเกินการบริโภคในประเทศกว่าเท่าตัว ดังนั้น จึงต้องส่งออกข้าวที่ตลาดโลกแข่งขันสูงมาก ทั้งอินเดีย เวียดนาม กระดิกตัวนิดเดียวปริมาณข้าวล้นตลาดโลกแล้ว เพราะข้าวเป็นพืชที่ปลูกง่าย แต่ทำไมเรายังต้องปล่อยให้นำเข้าถั่วเหลือง ปีละ 4.5 ล้านตัน ต้องนำเข้าข้าวโพดปีละ 3 ล้านตัน ทั้ง ๆ ที่ถ้าปลูกข้าวโพดออกมามีคนซื้อแน่นอน ปลูกแบบตาสีตาสา ก็ยังได้กำไรดีกว่าทำนาข้าว

หรือจะปลูกมะพร้าวอ่อน ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพ ส่วนมะพร้าวกะทิ ยังต้องนำเข้า รวมทั้งทุเรียน เป็นพืชที่คนจีนคลั่งไคล้มาก ตอนนี้คนจีน 1,400 ล้านคน บริโภคทุเรียนปีละ 1 ล้านตัน (90% มาจากไทย) เฉลี่ยคนจีนบริโภคทุเรียนปีละ 7 ขีด/คน โดยปี 2026 จีนตั้งเป้าว่า บริโภคทุเรียนเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตัน และปี 2030 จะขยับเป็น 6 ล้านตัน หรือ 4.28 กก./คน/ปี ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ตอบว่าเป็นไปได้ เนื่องจากปัจจุบันคนมาเลเซียบริโภคทุเรียน 11 กก./คน/ปี เวลานี้ทูตฯ จีน เวลาไปไหน ชอบชวนประเทศนั้น ๆ ให้ปลูกทุเรียน เพราะนับพื้นที่ปลูกในเวียดนามแล้วยังไม่พอคนจีนบริโภคในอีก 10 ปีข้างหน้า

การปลุกทุเรียน ได้กำไรดีกว่านาข้าวหลายสิบเท่า ปลูกทุเรียนอายุ 5 ปี 1 ไร่ ได้ผลผลิต 1,500 กก. ถ้าทุเรียนอายุ 7 ปีขึ้นไป ได้ผลผลิตไร่ละ กว่า 2,000 กก. ขาย กก.ละ 120 บาท เท่ากับ 240,000 บาท ถ้าทุกจังหวัดจัดโซนปลูกทุเรียนจังหวัดละ 20,000 ไร่ แล้วตั้งชื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเรื่องอินฟราสตรัคเจอร์ คิดดูทุเรียนจังหวัดละ 20,000 ไร่ จะมีเงินหมุนเวียนไปต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท/ปี

“สุดท้ายคือวัวเนื้อ ทั้งจีนและตะวันออกกลางต้องการปีละ 4-5 ล้านตัว จีนให้โควตากับ สปป.ลาว 500,000 ตัว แต่ สปป.ลาว หาวัวเนื้อให้จีนไม่ได้ ดังนั้น ชาวนาควรเลิกทำนาลงบ้าง แล้วหันมาปลูกหญ้าเลี้ยงวัว ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะจัดการอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน จะหาออร์เดอร์มาให้ก่อนแล้วจึงให้เลี้ยง อย่างมีแบบแผนรัดกุมกว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลสนับสนุนให้เลี้ยงวัวบ้านละ 2 ตัว แบบปลายเปิด คือ เลี้ยงไปถึงปลายทางแล้วไม่รู้ว่าจะขายให้ใคร ในราคาเท่าไหร่ อย่างนี้ไปไม่รอด” นายสัตวแพทย์ชัย กล่าว.