“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวน ก่อนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ หลังผลการประชุมเฟด โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ เพื่อปรับโพสิชันบางส่วนก่อนการประชุมเฟด

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งขึ้นตามสกุลเงินเอเชียในภาพรวมหลังผลการประชุมเฟด ขณะที่เงินดอลลาร์ เผชิญแรงขายท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดใกล้ที่จะยุติวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น หลัง dot plot สะท้อนว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้

โดยเงินบาทหลุดระดับ 34.00 ช่วงสั้นๆ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ 33.91 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์ถูกกดดันจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์และปัญหาแบงก์ในสหรัฐ อย่างไรก็ดี กรอบการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดกลับมากังวลเกี่ยวกับปัญหาของธนาคารในฝั่งยุโรป และรอติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 มี.ค.นี้ ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 24 มี.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.12 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 34.23 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 มี.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 20-24 มี.ค. นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 5,242 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทยที่ 11 ล้านบาท (ซื้อสุทธิ 109 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 120 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (27-31 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม กนง. รายงานเศรษฐกิจการเงินและตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ก.พ. พัฒนาการปัญหาของแบงก์ในสหรัฐ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือน ก.พ. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองของผู้บริโภคเดือน มี.ค. ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 4/2565 (final) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเดือน มี.ค. ของจีน