สถานการณ์วิกฤติธนาคารในสหรัฐและยุโรป ดูแล้วอาจจะยังไม่จบ เพราะยังมีบางธนาคารที่อาจมีสภาพคล่องที่สั่นคลอน จากการที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและเกิดการแห่ถอนเงิน หรือเรียกว่า Bank Run ซึ่งถ้าเกิดสิ่งเหล่านั้นจริง ทางการของประเทศนั้นๆ ก็อาจสั่งปิดธนาคารเหล่านี้ได้ คำถามก็คือ เงินฝากประชาชนที่ฝากไว้กับธนาคารที่ถูกสั่งปิด จะได้รับการคุ้มครองหรือไม่

เช่นเดียวกับในประเทศไทย ถ้าหากเกิดการปิดกิจการของธนาคาร ด้วยเหตุวิกฤติการเงิน หรือถูกสั่งปิดด้วยฐานะการเงินที่ล้มเหลวขาดเสถียรภาพ ขาดสภาพคล่องจนนำมาสู่หายนะ ผู้ฝากเงินรู้หรือไม่ว่า หน่วยงานสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA นั้น คุ้มครองเงินฝากกี่ประเภท แล้วมีอะไรบ้าง?

ผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับการคุ้มครอง?

ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ระบุไว้ว่า ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีทางการเงินได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ฝากเงินควรทราบว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับความคุ้มครอง

นั่นก็คือ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ต้องเป็นสกุลเงินบาทและต้องเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1.เงินฝากกระแสรายวัน
2.เงินฝากออมทรัพย์
3.เงินฝากประจำ
4.บัตรเงินฝาก
5.ใบรับฝากเงิน

อย่างไรก็ตาม มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภทที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เงินลงทุนในตราสารต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF, RMF) เงินฝากในสหกรณ์ แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)

สถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครอง 32 แห่ง เมื่อทราบแล้วว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับการคุ้มครอง ผู้ฝากยังสามารถฝากเงินอย่างมั่นใจ ด้วยการเลือกฝากเงินและดำเนินธุรกรรมกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551

ปัจจุบันสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝาก มีจำนวนรวมทั้งหมด 32 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 17 แห่ง สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 11 แห่ง บริษัทเงินทุน 1 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง จะเห็นได้ว่าการคุ้มครองเงินฝากไม่ได้เพียงมีประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการเงิน ไปจนถึงการช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินด้วย.