นอกจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ในคํ่าคืนที่ท้องฟ้าใส ไร้เมฆหมอกยังเป็นอีกโอกาสดีสำหรับการศึกษาดูดาว สังเกตวัตถุท้องฟ้า โดยเฉพาะกับความงามของ “ทางช้างเผือก” ที่เริ่มเด่นชัด สังเกตเห็นยาวนานขึ้น ทั้งนี้พาส่องสำรวจต่อเนื่องปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ชวนชมกลุ่มดาวฤดูใบไม้ผลิ อีกกลุ่มดาวเด่นน่าชมในช่วงเวลานี้ โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความรู้ เล่าถึงดาวดวงเด่น กลุ่มดาวฤดูใบไม้ผลิ พาชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามว่า ในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ทางซีกโลกเหนือจะเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่สำหรับไทยเราจะตรงกับฤดูร้อน
จากฤดูหนาวเดือนธันวาคมต่อเนื่องถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้จะเป็นจังหวะเหมาะต่อการเรียนรู้ดูดาว สังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า ในช่วงเวลานี้ การศึกษาสังเกตกลุ่มดาวมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเดือนมีนาคมเวลานี้ เป็นรอยต่อระหว่างฤดูหนาวกับฤดูร้อน ในช่วงนี้จึงยังมีโอกาสเห็นกลุ่มดาวฤดูหนาว
“โดยปกติ กลุ่มดาวฤดูหนาวเราจะสังเกตเห็นกลุ่มดาวปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออกในช่วงหัวคํ่า และจะเห็นได้เกือบตลอดคืนถึงรุ่งเช้า แต่ช่วงต้นฤดูร้อนกลุ่มดาวฤดูหนาว จะอยู่กลางศีรษะเป็นหลัก และอยู่ในตำแหน่งที่สูง ปรากฏให้เห็นค่อนไปทางทิศตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ”
กลุ่มดาวฤดูใบไม้ผลิ เป็นกลุ่มดาวฤกษ์หรือกลุ่มดาวสว่างที่เป็นกลุ่มดาวเรียงเด่น ช่วงเวลานี้ถือเป็นอีกโอกาสดีที่จะเรียนรู้ดูดาวเช่นกัน ทั้งนี้ ก่อนดูดาวจะต้องรู้ทิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มว่า ช่วงต้นฤดูหนาว เรามักใช้ กลุ่มดาวค้างคาว หรือ แคสสิโอเปีย เป็นกลุ่มดาวใช้ในการนำทาง
แต่เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะใช้อีกกลุ่มหนึ่ง โดยดาวเด่นน่าสนใจของกลุ่มดาวฤดูใบไม้ผลิ ได้แก่ กลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “กลุ่มดาวจระเข้” เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่พบเห็นได้ง่าย และจะใช้นำทางไปยังบริเวณดาวเหนือ และสำหรับช่วงเวลานี้ในเดือนมีนาคม จึงมีโอกาสเห็นได้ทั้งกลุ่มดาวค้างคาวและกลุ่มดาวหมีใหญ่ในช่วงหัวคํ่า
“กลุ่มดาวค้างคาว จะสังเกตเห็นได้หลังจากพระอาทิตย์ลับฟ้า จะปรากฏขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อยู่ใกล้ขอบฟ้า จากนั้นเมื่อดึกขึ้นจะเห็นอีกกลุ่มดาวหนึ่งที่คนไทยรู้จัก ซึ่งก็คือ กลุ่มดาวจระเข้ หรือที่นักดาราศาสตร์เรียกว่ากลุ่มดาวหมีใหญ่ โดยลักษณะจะคล้ายรูปกระบวย ปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ”
นอกจากนี้ยังมี กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวหมาเล็ก กลุ่มดาวสารถี กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาววัว ยังมีโอกาสเห็นกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งเป็นตัวแทนของราศีสิงห์ กลุ่มดาวปู ฯลฯ โดยยังคงปรากฏให้เห็น อีกทั้งสามารถสังเกตเห็นกาแล็กซีแอนโดรเมดา เนบิวลา M42 หรือกระจุกดาวต่าง ๆ โดยยังพอเห็นได้
“ช่วงฤดูใบไม้ผลิเป็นอีกโอกาสดีในการสังเกตกาแล็กซีมากกว่าช่วงฤดูหนาว เพราะบริเวณกลุ่มดาวหมีใหญ่หรือดาวจระเข้บริเวณนี้ จะมีกาแล็กซีเด่นน่าชม สามารถสังเกตได้ด้วยกล้องส่องทางไกลธรรมดา หรือแม้กระทั่ง กระจุกดาวรวงผึ้ง สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เห็นได้ง่าย โดยช่วงกลางดึกจะอยู่กลางศีรษะ อยู่บริเวณกลุ่มดาวปู และถ้าอยู่ในสถานที่มืดในพื้นที่ที่ไม่มีแสงรบกวน จะสังเกตเห็นชัดเจน”
อีกทั้งในเดือนมีนาคม ยังเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลล่า ทางช้างเผือก ทั้งนี้ช่วงเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ ดวงอาทิตย์จะอยู่ใกล้กับบริเวณใจกลางทางช้างเผือก ใจกลางของทางช้างเผือกอยู่ในบริเวณกลุ่มดาวราศีพิจิกกับราศีคนยิงธนู ในช่วงเดือนดังกล่าว จึงไม่ค่อยมีโอกาสเห็น ใจกลางทางช้างเผือก เพราะดวงอาทิตย์อยู่ใกล้บริเวณนั้น แสงของดวงอาทิตย์รบกวน
ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า นับแต่ช่วงต้นมีนาคมเป็นต้นไป ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาการเริ่มต้นถ่ายภาพทางช้างเผือก โดยผู้ที่สนใจ นักถ่ายภาพสามารถค้นข้อมูลเพิ่มเติมโดยทาง สดร. จัดทำตารางสังเกตการณ์ใจกลางทางช้างเผือกเผยแพร่ไว้ โดยสามารถเลือกดูช่วงเดือนที่จะมีโอกาสพบกับทางช้างเผือกได้
นอกจากกลุ่มดาวน่าติดตาม ปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่จะเกิดขึ้นต่อจาก ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก การบังกันของวัตถุท้องฟ้าที่เกิดขึ้นที่ผ่านมายังส่งต่อความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ความสนใจดาราศาสตร์อีกหลากหลายมิติ
“ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดยถ้าเทียบกับปรากฏการณ์จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือสุริยุปราคา ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ยากกว่า โอกาสติดตามสังเกตจึงยากขึ้นเช่นกัน และจากที่ปรากฏการณ์นี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปบังดาวเคราะห์ซึ่งก็คือดาวศุกร์ ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์นักดาราศาสตร์สามารถนำปรากฏการณ์นี้ไปใช้ในการศึกษา ใช้ประโยชน์คำนวณหาระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์ ทั้งนำมาใช้ศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์นำมาใช้ศึกษาร่วมกัน”
คุณศุภฤกษ์ ให้ข้อมูลอีกว่า ถ้าโฟกัสในช่วงสามเดือนนี้ ในเดือนเมษายน ซึ่งมักจะชี้ชวนสังเกตการณ์และที่มักเกิดขึ้นทุกปีคือ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นที่ประเทศไทย โดยปีนี้คาดการณ์ว่าวันที่ 27 เมษายน อาจมีอุณหภูมิสูงสุดในรอบปี ทั้งนี้ หากไม่มีลมมรสุมใด ๆ หรือเมฆมาเป็นตัวแปร
ส่วนเดือนพฤษภาคม ในวันที่ 6 จะมี ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัว เกิดขึ้น นอกจากนี้จะมีปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุม โดยที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งเป็นไฮไลต์น่าติดตามซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วประเทศ ส่วนดาวเคราะห์ที่ยังสังเกตเห็นเด่นชัดที่ยังคงโดดเด่นช่วงนี้ จะเป็น ดาวศุกร์ โดยสามารถเห็นได้ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวคํ่า มีเวลาสังเกตเห็นได้ไม่นานราวสองชั่วโมงก็จะลับขอบฟ้าไป
อีกดวงหนึ่ง ดาวพฤหัสบดี โดยจะอยู่ใกล้กับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ อาจมองเห็นยากขึ้น เห็นเพียงแป๊บเดียวก็ลับขอบฟ้าอีกเช่นกัน ส่วน ดาวเสาร์ จะสังเกตเห็นได้ชัดทางทิศตะวันออกช่วงรุ่งเช้า และ ดวงจันทร์ ยังคงน่าศึกษาติดตามตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่ท้องฟ้าใสเคลียร์ มีโอกาสเห็นดวงจันทร์ได้ชัดเจน
ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ คุณศุภฤกษ์ ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า สำหรับการติดตามสังเกตใจกลางทางช้างเผือก จากนี้ไปจะเห็นได้เร็วขึ้น ชัดขึ้น ทั้งนี้ สำหรับผู้สนใจหรือผู้เริ่มศึกษา ควรมีความเข้าใจเวลาขึ้นตกของดวงจันทร์ ทั้งนี้นอกจากแสงอาทิตย์ที่จะรบกวน แสงสว่างของดวงจันทร์เป็นอีกปัจจัยทำให้การสังเกตการณ์ทางช้างเผือกมีอุปสรรค
“ความน่าสนใจของทางช้างเผือกมีหลายประการ ทางช้างเผือกเป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีขนาดใหญ่ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า บริเวณแนวทางช้างเผือกจะประกอบด้วยดาวฤกษ์ กระจุกดาว รวมถึงเนบิวลาต่าง ๆ อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ โดยจะเห็นเป็นแนวฝ้าจางพาดผ่านจากทิศเหนือไปทิศใต้ แต่อย่างไรแล้วการสังเกตเห็นขึ้นอยู่กับสถานที่ที่สังเกตการณ์ด้วย ซึ่งควรต้องมีความมืดสนิท”
ทางช้างเผือกยังเป็นวัตถุท้องฟ้าหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ บ่งบอกทัศนวิสัยท้องฟ้า โดยถ้าสถานที่ใดก็ตาม ที่ไปดูดาวแล้วสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกได้ชัดเจน แสดงให้เห็นว่าทัศนวิสัยของท้องฟ้านั้น เหมาะต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ถ้าเทียบ
อย่างง่าย ๆ ในเมืองอาจมีโอกาสเห็นได้น้อยด้วยที่มีแสงไฟรบกวน แต่เมื่อออกไปตามอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่ที่ไม่มีแสงรบกวน ก็มีโอกาสมองเห็นความสวยงามได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันการเรียนรู้ดูดาว ศึกษาปรากฏการณ์ท้องฟ้าสามารถเข้าถึงข้อมูล ทั้งมีแอปพลิเคชันช่วยให้เข้าถึงเพิ่มขึ้น ซึ่งการดูดาวเป็นกิจกรรมที่เชื่อมการเรียนรู้ธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และการดูดาวยังสามารถดูได้ตลอดปี โดยแต่ละเดือนกลุ่มดาวจะเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไป และแต่ละฤดูกาลนั้นมีกลุ่มดาวประจำฤดูปรากฏให้ศึกษาสังเกต เช่นเดียวกับวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้
ที่เหมาะต่อการสังเกต “ทางช้างเผือก” และดาวเด่น “กลุ่มดาวฤดูใบไม้ผลิ”.
พงษ์พรรณ บุญเลิศ