กำแพงเพชรเป็นเมืองแห่งมรดกทางวัฒนธรรม ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุแล้ว ยังมีการละเล่นชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะเพลงอันเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้เกิดงานสำคัญ คือ “งานนบพระ เล่นเพลง” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตั้งใจนฤมิตภาพแห่งความสุข เมื่อครั้ง สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พรญาลิไท (ตามจารึกอ่านว่า พระ-ยา-ลิ-ไท) แห่งอาณาจักรสุโขทัย เสด็จพระราชดำเนินมาสักการะพระบรมธาตุที่เมืองนครชุม ท่ามกลางบรรยากาศรื่นเริงด้วยการร้องรำทำเพลงของประชาชน

 ในสมัยแผ่นดินพรญาลิไท ถือเป็นสมัยที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองมาก มีการประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วทุกหัวระแหง จากศิลาจารึกนครชุมที่พบในจังหวัดกำแพงเพชรทำให้ทราบว่า มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกามาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุเจดียาราม ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมทั้งได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกไว้ที่ด้านหลังองค์เจดีย์ด้วย ซึ่งปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้

ตั้งแต่สมัยโบราณ บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดกำแพงเพชรเป็นที่ตั้งของเมืองต่าง ๆ หลายเมือง เช่น เมืองนครชุม เมืองชากังราว เมืองคณฑี เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร และเมืองพาน ต่อมาในภายหลังเมืองต่าง ๆ ได้ล่มสลายไปตามความเปลี่ยนแปลงของระบบการปกครองและกาลเวลาจนกระทั่งเหลือแต่เมืองชากังราวและกลายเป็นจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน

เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสามหรือวันมาฆบูชา เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินก็จะนำผู้ครองนครเจ้าเมืองน้อยใหญ่ พร้อมทั้งเหล่าไพร่ฟ้าข้าราชบริพารและประชาชน จัดตกแต่งขบวนเป็นพยุหยาตรา พากันไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระบรมธาตุ เป็นประจำ เรียกสั้น ๆ ว่าพากันไป “นบพระ” และเนื่องจากการเดินทางติดต่อคมนาคมในสมัยก่อนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องเดินทางด้วยเท้า พาหนะก็มีแต่ช้าง ม้า วัว ควาย และเกวียนเท่านั้น กว่าจะเดินทางไปถึงและนมัสการพระบรมธาตุเสร็จเรียบร้อยก็มืดคํ่า จึงจำเป็นต้องค้างพักแรมกันในบริเวณวัดต่อจนรุ่งเช้าของอีกวันหนึ่งจะได้กลับ เป็นธรรมดาของชาวไทยทั่วไป ซึ่งมีอารมณ์ศิลปินประจำใจ เมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาจากต่างท้องถิ่นกันด้วย จึงจัดการแสดงการละเล่นต่าง ๆ ประกวดประชันแข่งขันกันตามขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละหมู่บ้านเรียกกันว่า “เล่นเพลง”

นวนิยายเรื่อง “ทุ่งมหาราช” ประพันธ์โดย มาลัย ชูพินิจ (2449-2506) นักประพันธ์ผู้เป็นชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิดได้กล่าวถึงการเล่น “เพลงแม่ศรี” ของชาวเมืองนครชุม เพื่อติดต่อสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อม ๆ กับการสร้างความบันเทิงสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมี “รำคล้องช้าง” ซึ่งดัดแปลงจากการคล้องช้างลากไม้มาเป็นเพลงรำ โดยฝ่ายชายจะจับชายผ้าสองข้างที่คล้องคอตนเองอยู่ รำป้อออกมาคล้องหญิงที่ตนสนใจ แล้วต้อนไปมาอยู่กลางวงอย่างสนุกสนาน เช่นเดียวกับเพลงพวงมาลัยที่นิยมเล่นในเมืองกำแพงเพชรไปจนตลอดพื้นที่ภาคกลางของไทย โดยร้องรำเกี้ยวแก้กันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง นอกจากนี้ยังมีเพลงพิษฐาน ซึ่งชาวบ้านนิยมร้องเพื่อไหว้พระขอพรในโอกาสพิเศษต่าง ๆ

แม้ในปัจจุบันการเล่นเพลงเหล่านี้จะเลือนความนิยมไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่คุณค่าของเพลงกลับยิ่งทวีมากขึ้น ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่เสมือนเป็นสมุดบันทึกจดจารวันเวลาและเหตุการณ์ในอดีตไว้จาง ๆ แต่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา น่าสนใจ

ในงานประเพณีนบพระเล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ได้คืนชีวิตให้กับเพลงพื้นบ้าน เพื่อตอกยํ้าและเผยแพร่คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม และยังเป็นการเล่นเพลงเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานประเพณีสำคัญแห่งเมืองกำแพงเพชรอีกวาระหนึ่งด้วย

 “งานประเพณีนบพระ เล่นเพลง” งานประจำปีของจังหวัดกำแพงเพชร จะจัดขึ้นในวันมาฆบูชาหรือวันเพ็ญเดือนสาม ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเป็นการฟื้นฟูและเผยแพร่งานประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากสุโขทัย จังหวัดกำแพงเพชรได้ฟื้นฟูประเพณีนบพระเล่นเพลงขึ้นในปี พ.ศ.2526 ด้วยการจัดขบวนแห่พยุหยาตราจำลองไปนบพระและเวียนเทียนพระบรมธาตุเจดีย์ และได้มีการแสดงการละเล่น เล่นเพลงกันเป็นที่เอิกเกริก รวมทั้งจัดให้มีการแสดงแสงสีเสียงถึงประวัติความเป็นมาของการตั้งบ้านแปลงเมือง

ถือเป็นการฟื้นฟูงานประเพณีดั้งเดิมตามหลักฐานในศิลาจารึกเมืองพระชุม หรือเมืองนครชุม ที่กล่าวถึงการจัดขบวนแห่ไปนบพระมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย โดยขบวนจะข้ามแม่นํ้าปิงไปนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ที่ฝั่งนครชุม มีการแสดงมหรสพ ศิลปวัฒนธรรมไทย และการออกร้านของส่วนราชการและเอกชน

มาร่วมงานบุญใหญ่พร้อมสืบสานประเพณีโบราณร่วมกันแล้ว หากยังมีเวลาแนะนำให้ไปผ่อนคลายความเมื่อยล้าที่ “บ่อนํ้าพุร้อนพระร่วง” หรือ “บึงสาป” มีลักษณะเป็นลุ่มนํ้าขัง มีป่าโปร่งล้อมรอบสลับด้วยเนินเตี้ย ๆ พื้นดินบางแห่งมีหินโผล่ขึ้นเป็นกลุ่มน้อยใหญ่สลับกันไป ตำนานเล่าว่าครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จประพาสป่าล่าสัตว์มาถึงบริเวณบ้านลานหิน และเสด็จฯไปประทับที่บริเวณนั้น

เล่ากันว่าทรงเห็นไก่ป่าตัวหนึ่งมีลักษณะสวยงาม และมีเสียงขันไพเราะ จึงทรงให้นายพรานที่ตามเสด็จฯ ต่อไก่ป่าตัวนั้นและได้ไก่ป่าสมพระราชประสงค์ โดยมีไก่ป่าตัวอื่น ๆ ติดไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในวันนั้นพระองค์และนายพรานล่าสัตว์อื่นไม่ได้เลย จึงทรงให้ทหารนำไก่ป่าตัวอื่น ๆ ไปปรุงอาหารสำหรับเสวย แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นป่า ไม่มีบ้านเรือนราษฎร จึงไม่มีไฟใช้ทำอาหาร จึงทรงสาปนํ้าที่อยู่ในบึงบริเวณใกล้ ๆ ให้เป็นนํ้าร้อน ในช่วงแรกบึงที่ว่าจึงถูกเรียกว่า “บึงพระร่วงสาป” ต่อมาภายหลังเรียกสั้นลงเหลือเพียง “บึงสาป” เป็นที่โจษจันกันว่านํ้าในบึงสาปนี้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคปวดตามร่างกาย โรคผิวหนังได้ จึงมีประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงพากันไปอาบ ดื่ม กิน และบางรายนำกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล

นํ้าในบ่อนํ้าพุร้อนพระร่วงแห่งนี้ ถือเป็นนํ้าศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดกำแพงเพชรที่จะมีการนำนํ้าจากบึงนี้ไปประกอบพิธีสำคัญของบ้านเมืองตลอดมาเช่นในพิธีถือนํ้าพิพัฒน์สัตยา เนื่องจากเป็นนํ้าที่เกิดจากแร่ธาตุและความร้อนภายในโลก ทำให้มีนํ้าพุร้อนผุดขึ้นมาตลอดเวลา โดยมีบ่อนํ้าพุร้อนที่ผุดขึ้นจากใต้ดินถึง 5 จุด อุณหภูมิประมาณ 40-65 องศาเซลเซียส มีแร่ธาตุและก๊าซละลายอยู่ในนํ้าทำให้นํ้ามีรสและกลิ่น จากการตรวจสอบของสาธารณสุขพบว่าไม่มีสารปนเปื้อนและเชื้อโรค ชาวบ้านจึงได้นำนํ้าพุร้อนจากบ่อแห่งนี้ไปใช้อาบและดื่ม

ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ได้พัฒนาให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เมื่อเข้าไปจะพบกับบ่อนํ้าร้อนและบ่อนํ้าเย็นที่ปรับภูมิทัศน์จนสวยงาม บ่อนํ้าอุ่นสำหรับแช่เท้า และสถานที่อาบนํ้าอุ่นที่เป็นสัดส่วนเป็นส่วนตัว.

อธิชา ชื่นใจ