เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรค พท. แถลงข่าว หัวข้อ PM2.5 กำลังฆ่าคนไทย ส่วนเกี่ยวข้องต้องเคลื่อนไหว ปล่อยตามมีตามเกิดไม่ได้ ว่ารู้สึกเป็นห่วงพี่น้องชาวภาคเหนือเป็นอย่างมาก วันนี้ถือเป็นวิกฤติทางมลพิษทางอากาศที่ประเทศไทยได้ประสบมา ฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 656 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นตัวเลขที่อันตรายถึงชีวิต โดยฝุ่น PM 2.5. ตอนนี้มาจากประเทศเมียนมาทั้งหมด ตามข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เห็นว่าวิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นายปลอดประสพ กล่าวว่า มีความจำเป็นสื่อสารไปถึงนายกรัฐมนตรีพรรคการเมือง หน่วยราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อเสนอ 6 ข้อ เพื่อรักษาชีวิตและพลานามัยพี่น้องชาวภาคเหนือและประชาชนคนไทย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องโทรศัพท์ไปถึงผู้นำประเทศเมียนมา และผู้นำประเทศอื่นที่อยู่ใกล้กับ จ.เชียงราย โดยเฉพาะ อ.แม่สาย เพื่อขอร้องให้เมียนมาควบคุมการเผาที่ส่งผลให้เกิดฝุ่น PM 2.5

2. กระทรวงสาธารณสุข ต้องแจกหน้ากากอนามัยคุณภาพดี ให้ทั่วถึงโดยทันที 3. กระทรวงมหาดไทย ต้องสั่งหยุดงาน ปิดโรงเรียน และประกาศห้ามออกนอกบ้านโดยสิ้นเชิง 4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาพัดลมให้ประชาชนเพื่อพัดฝุ่น PM 2.5 ออกจากบ้าน

5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องใช้ความเด็ดขาดและใช้อำนาจตามกฎหมายกับบริษัทต่างๆ เพื่อคุยให้ชัดเจนอย่างตรงไปตรงมา ถึงข้อตกลงที่มาที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือความเสียหายต่อประเทศ

6. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องสั่งการกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ยุติการอนุญาตเลี้ยงวัว 15 ฝูง ขนาดใหญ่ ในอุทยานแห่งชาติทันที เพราะกลุ่มเลี้ยงวัวเหล่านี้ คือผู้ที่เผาเพื่อให้ได้หญ้ามาเลี้ยงวัว และต้องสั่งห้ามเข้าไปเก็บเห็ดในอุทยาน เพราะผู้ที่เผาทำเพื่อให้เห็ดเกิดขึ้น

7. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องมีการประชุมทบทวน เพื่อให้เปิดทางให้อุปกรณ์ช่วยเหลือฝุ่น PM 2.5 เหล่านี้ไปยังประชาชน ผ่านทางราชการ เพราะเวลานี้เป็นเรื่องเป็น เรื่องตาย

“สิ่งที่ผมเรียนไป จำเป็นต้องดำเนินการทันที ในพื้นที่ อ.แม่สาย หรือพื้นที่ใดที่มี PM 2.5 เกินกว่า 450 ต้องทำเหมือนกัน หวังว่านายกฯ จะเห็นใจและสงสารประชาชน ถ้าพรรค พท. เป็นรัฐบาล สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้” นายปลอดประสพ กล่าว

ทางด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทางภาคเหนือสาหัสมาก ส่งผลกระทบ 3 พื้นที่ใหญ่ ได้แก่ ป่าอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ, พื้นที่ป่าสงวน ที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้, พื้นที่การเกษตร ซึ่งจากข้อมูลใน 17 จังหวัดภาคเหนือ อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 40% และอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 40% พื้นที่การเกษตร 15% ดังนั้น ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ในส่วนที่ ทส. มีงบประมาณในการดูแล คือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 40% โดย ทส. ได้ให้เจ้าหน้าที่กว่าพันนายใช้อุปกรณ์ดับไฟต่างๆ และเฮลิคอปเตอร์ขนน้ำเข้าไปดับไฟกว่าร้อยเที่ยวต่อวัน ทั้งขนน้ำและลำเลียงคน ที่สำคัญคือ มีการปิดอุทยานในพื้นที่แล้ว หากพบเห็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ จะดำเนินการจับกุมในทันที  

นอกจากนี้ พื้นที่ป่าสงวนอีก 40% ภารกิจในการดับไฟป่านั้น ถูกถ่ายโอนจากกรมป่าไม้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่น กว่า 10 ปีแล้ว กรมป่าไม้จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะไม่มีทั้งงบประมาณและบุคลากรในการช่วยดับไฟป่า จึงต้องขอความร่วมมือไปทางจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดตั้งงบประมาณขึ้นมา ดำเนินงานตามที่มีอำนาจหน้าที่ในส่วนของถิ่นนั้น ส่วนพื้นที่เกษตรอีก 15% ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สถานการณ์ปีนี้หนักขึ้นกว่าปีก่อนหลายเท่าตัวนัก แต่เป็นสิ่งที่เราได้คาดการณ์ไว้ ตั้งแต่ปลายปี 65 ตั้งแต่ครั้งที่ตนเดินทางลงพื้นที่ไปที่ศูนย์บัญชาการภาคเหนือ ได้กำชับทุกหน่วยงานทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรับมือไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในต้นปี 66 ตามที่เราได้คาดหมายว่า จะเกิดขึ้นและหนักหนาสาหัส ดังนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามความรับผิดชอบ อย่างเต็มความสามารถ และจะเห็นได้ว่า ทส. ได้ดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ ตามที่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าได้รับบาดเจ็บ และบางรายเสียชีวิต เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง  

นายวราวุธ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันที่ 28 มี.ค. 66 ทางกระทรวง อาจจะรายงานความคืบหน้าการทำงานในส่วนที่กระทรวงรับผิดชอบให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ หลังจากที่เมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ยกระดับการปฏิบัติในทุกภาคส่วนไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้แต่ละหน่วยงาน ดำเนินการตามหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัด  

ในส่วนการขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กรณีที่มีจุดความร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่าและฝุ่นพิษเป็นจำนวนมากนี้ ได้ทำหนังสือร้องเรียนผ่านทางเลขาธิการอาเซียนโดยตลอด เพื่อขอความร่วมมือไปยังบริษัทต่างๆ ที่มีพื้นที่อยู่ในต่างประเทศ แต่เมื่อเป็นพื้นที่นอกอาณาเขตประเทศไทยแล้ว ทำให้การประสานงานเป็นไปได้ในเบื้องต้น ที่จะขอความร่วมมือ เพื่อให้เลขาธิการอาเซียน ทำหนังสือไปยังรัฐบาลต่างๆ มีการทำหนังสือร้องเรียนและหนังสือโต้แย้งไปทุกระยะ ซึ่งเป็นผลบ้าง ไม่เป็นผลบ้าง และในทุกเวทีที่มีการประชุมระดับนานาชาติ เราจะร้องเรียนไปทุกครั้ง แต่ละครั้งแต่ละประเทศจะมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันไป