เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 18 พ.ค. ที่โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเซ็นเอ็มโอยู (MOU) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ทุกพรรคเห็นด้วยที่จะมีการเซ็น MOU และแถลงข่าวในวันที่ 22 พ.ค. อย่างที่ทราบเพราะเป็นวันครบรอบการรัฐประหารในปี 2557

เมื่อถามว่า ต้องมีการพูดคุยอะไรเพิ่มหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า มีหลายเรื่อง เพราะแต่ละพรรคมีวาระหลักที่ต้องการผลักดัน เพราะฉะนั้นต้องมาดูว่าอันไหนตรงกัน แม้ไม่ตรงกันแต่ไปด้วยกันได้ก็ต้องคุยกัน รายละเอียดจะมากน้อยแค่ไหนก็ต้องคุยกัน แต่ละพรรคก็ส่งตัวแทนหลักที่จะมาคุยกันเพื่อให้ได้ข้อตกลงกันก่อนวันที่ 22 พ.ค.

“เนื่องจากแต่ละพรรคมีนโยบายที่เยอะมาก เราไม่สามารถยัดทุกอย่างเข้าไปใน MOU ได้ เราพยายามหาจุดร่วมและเป็นประเด็นหลักที่เราเห็นร่วมกัน คงไม่สามารถประกาศทุกอย่างได้ว่า แต่ละพรรคจะทำอะไรบ้าง รัฐบาลจะทำ 100-200 เรื่อง ก็คงไม่ขนาดนั้น”

เมื่อถามว่า ก่อนจะเซ็น MOU ในวันที่ 22 พ.ค. ทุกอย่างจะเรียบร้อยดีหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อวานก็มีการถกกันอยู่พอสมควร ว่าควรจะมีเรื่องไหนบ้าง รายละเอียด รวมไปถึงโครงสร้าง MOU คาดว่าจะจบได้ภายในวันที่ 22 พ.ค. และเราก็เห็นร่วมกันว่า วันที่ 22 เป็นวันดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางพรรคก้าวไกลส่งใครไปเจรจากับ ส.ว. นายชัยธวัช กล่าวว่า ก็ช่วยกัน ตนเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปคุยด้วย เราเชื่อว่าได้พูดคุยกันต่อหน้า และทำความเข้าใจกันดีที่สุด ส.ว.จำนวนมากเป็นผู้ใหญ่ มีวิจารญาณที่ดี ว่าบ้านเมืองควรจะเดินไปในทิศทางไหน หลายคนได้รับข้อมูลที่ไม่ค่อยตรง การพูดคุยก็จะทำให้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ตนคิดว่าเป็นทิศทางที่ดีที่ ส.ว.หลายคนออกมาแสดงจุดยืน สุดท้ายอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่หลายคนกังวลใจขนาดนั้น

เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่ ส.ว.ที่มาจากกองทัพ แสดงจุดยืนว่าไม่ออกเสียงโหวต นายชัยธวัช กล่าวว่า ส.ว. ที่อดีตเคยเป็นทหาร เท่าที่ตนสัมผัสไม่ได้เป็นเอกภาพขนาดนั้น หลายท่านมีความคิดเป็นของตัวเอง อย่าไปเหมารวมว่าถ้าเป็นทหารต้องต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ในระหว่างสมัยประชุมที่แล้ว ก็เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนหลายเรื่อง ซึ่งมีเหตุมีผลที่เข้าใจตรงกัน

เมื่อถามว่า คิดย่างไรที่บนเวทีมีการพูดถึงการยืนยันเรื่องของความคิดที่ต่างกันอาจจะมีดีลลับเกิดขึ้นหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า เราได้ข้อสรุปในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ตนคิดว่าความไว้วางใจ การให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ หากมัวแต่คิดอย่างงั้นอย่างงี้ก็ไม่สามารถจับมือร่วมกันได้ ส่วนทางพรรคเพื่อไทย ก็ยืนยันว่า จะจับมือกับพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีกระแสข่าวออกมาเยอะ ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลจะสำเร็จหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ 2 พรรคอย่างปฏิเสธไม่ได้

ทางด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า วันนี้เป็นก้าวแรก ก้าวต่อไปจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งต้องมาดูกันในเรื่องนโยบายรวมถึงประเด็นต่างๆ ที่แต่ละพรรคมีในเรื่องนโยบาย มีจุดยืนในแต่ละเรื่องอย่างไร อะไรเห็นตรงกัน หรือไม่ตรงกัน

เมื่อถามย้ำว่า คุณหญิงสุดารัตน์ รู้จักกับ ส.ว.บางส่วน ได้มีการบอกหรือไม่ว่า มติของ ส.ว.ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยอะไรกัน ซึ่งหน้าที่ในการประสานตรงนี้ เป็นของทางพรรคก้าวไกล ที่เป็นแกนนำ ในการรับหน้าที่นี้ไปดูแล ถ้าเขามีอะไรให้เราช่วย เราคงจะดำเนินการ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับใคร แต่ทราบจากแกนนำพรรคก้าวไกลว่าได้มีการประสาน ส.ว.ไปหลายส่วนแล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เคยดูแลกระทรวงมีประชาชนหลายคนมองว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เหมาะสมกับตรงนั้น มีการพูดคุยกันเรื่องกระทรวงแล้วหรือยัง คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ยังเลย ตอนนี้สิ่งแรกที่เราต้องทำ และคิดตรงกันคือ การตั้งคณะทำงานขึ้นมาเอานโยบายของแต่ละคน ซึ่งคิกว่าเป็นนโยบายที่ดี และจะมาช่วยกันดูว่า เราจะมาช่วยกันผลักดันตรงนี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องกระทรวงใดๆ เลย ย้ำว่าสิ่งที่ควรจะเริ่มต้นก่อนคือนโยบาย

เมื่อถามว่า มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดเดดล็อกทางการเมือง ไม่ว่ากรณีศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ถ้าทำมันก็ทำได้ แต่ตนภาวนาในฐานะที่เราอยู่ในการเมืองมานาน และเราลงพื้นที่มาก เราสงสารประชาชน และเราไม่ได้คิดว่า พรรคไหนจะโดนอะไรอย่างไร ซึ่งเราโดนมานาน แต่อะไรก็เกิดได้ ถ้าพูดกันตามตรง แต่อยากจะขอร้องทุกฝ่าย วันนี้ทั้ง ส.ว. หรือพรรคการเมืองต่างๆ ประชาชนอยู่ไม่ไหวแล้ว ต้นทุนชีวิตของเขาบางมากแล้ว แทบจะเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ หรือเกิดเหตุการณ์ที่ก่อวิกฤติของประเทศ คนที่รับเคราะห์กรรมมากที่สุดคือประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากโหวตครั้งแรกในสภาไม่ผ่าน จะต้องมีการโหวตรอบสอง ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนคนที่อาจจะไม่ใช่นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ปรับเปลี่ยนเป็นอะไร อย่างไร ก็ต้องดูว่า ถ้าไม่ผ่านต้องปรับเปลี่ยนเป็นอะไร ตนยังคาดเดาไม่ถูก ซึ่งก็ยอมรับว่ามีความไม่แน่นอนในข้างหน้าเยอะ ซึ่งวันนี้เราทำตามสัญญาประชาคมที่ได้ให้กับประชาชนว่า เราจะสนับสนุนพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งให้จัดตั้งรัฐบาล หากมีการสลับสับเปลี่ยนกัน ต้องขอดูก่อน ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งเราไม่ได้กระหายว่าเราจะเป็นรัฐบาล แต่เราทำอะไรก็ได้ที่มันถูกต้อง จะให้เป็นฝ่ายค้านก็เป็นได้

ส่วน น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค ทสท. กล่าวว่า ตอนนี้เป็นนิมิตหมายอันดี หรือกลิ่นความเจริญ และตนเรียกได้ว่าเป็นทีมของประเทศไทย ซึ่งประชาชนมีฉันทามติ เลือก ส.ส.จากหลายพรรคมาเกินกว่า 60% ของสภา เมื่อไปได้แบบนี้ เราต้องการอะไรอีก ตนเชื่อว่าพี่น้องประชาชน รวมถึงนักวิชาการที่เห็นตรงกันหมด ตนคิดว่าตอนนี้ยังมีเวลา ทั้ง ส.ว. นักการเมือง หรือประชาชน ยังมีโอกาส ที่เราจะมาพูดคุยกันด้วยเหตุผลและมีวุฒิภาวะ ว่าเราควรจะให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้หรือยัง ทั้งนี้ จุดยืนของเราชัดเจนตั้งแต่ต้น ว่าเราสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยทุกพรรค และตนแสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉะนั้น เราสนับสนุนทุกคนที่ไม่สนับสนุนเผด็จการ สั้นๆ คือไม่สนับสนุน 2 ลุง แล้วทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะ 9 ปีที่ผ่านมา ตนเข็ดแล้ว ซึ่งเราต้องการให้ฝ่ายประชาธิปไตยสามัคคีกัน และนำพาประเทศไปให้ได้

“จะให้เป็นฝ่ายค้านเราก็เป็นได้ เพราะฝ่ายค้านก็มีประโยชน์ ทำประโยชน์ให้กับฝ่ายประชาธิปไตยได้เหมือนกัน ฉะนั้นให้แกนนำไปดูว่าบุคคลที่เหมาะสมให้อยู่ตรงไหน เราก็ยินดีจะอยู่ตรงนั้น และเราถือว่าพรรคการเมืองตอนนี้ที่อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายค้านเดิม แค่ 2 พรรค เขารวมกันเอง เขาก็เกินพอแล้ว สำหรับระบอบประชาธิปไตยปกติ แต่ทุกวันนี้เขาก็มีน้ำใจ เพราะเขาเห็นว่าเราก็สู้ด้วยกันมา เพื่อที่จะไปสู้กับกฎเกณฑ์ที่บิดเบี้ยวในวันนี้” นายศิธา กล่าว.