เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กลุ่มราษฎรและแนวร่วม นำโดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล น.ส.เบนจา อะปัญ ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นายรัฐภูมิ เลิศไพจิตร โฆษกกลุ่มวีโว่ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ร่วมแถลงเดินหน้าก้าวต่อไปของฝ่ายประชาธิปไตย ในแคมเปญ “โหวตเพื่อเปลี่ยน” (Vote for Change) เพื่อเสนอทิศทางการเมืองไทยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

น.ส.ภัสราวลี กล่าวในหัวข้อการเลือกตั้งต้องเป็นอิสระและเป็นธรรม ว่าเราไม่สามารถที่จะปล่อยให้การเลือกตั้งฟรีและแฟร์ โดยที่เราไม่ทำอะไรไม่ได้ เราจำเป็นจะต้องช่วยกันจับตาในการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ด้วย เพื่อให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมตรวจสอบและปกป้องไว้ ซึ่งความฟรีและแฟร์ โจทย์ทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 66 จะมีหลักๆ อยู่ 2 ข้อ 1. คือเรายังมี ส.ว. 250 คน ที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ปัญหาที่ทุกคนทราบคือเขาไม่ได้มาจากเรา เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถไว้ใจได้เลยว่าเมื่อการเลือกตั้งจบไปแล้วและถึงตอนที่ต้องโหวตเลือกนายกฯเขาจำทำเพื่อประชาชนหรือไม่ หรือจะโหวตเลือกนายกฯเพื่อเอื้อให้กับพวกพ้องของพวกเขา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เราต้องทำให้ได้คือการให้ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างน้อย 376 เสียง จากทั้งหมด 500 เสียง เพื่อเอาชนะเสียง ส.ว.

2. คือการแข่งขันจะอยู่ที่การเลือก ส.ส.เขตเป็นหลัก จากรูปแบบการเลือกตั้งใหม่มี ส.ส. ทั้งหมด 500 คน โดย 400 คน มาจาก ส.ส.เขต และ 100 คนคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สำหรับ ส.ส.เขตนั้น เป็นจุดวัดสำคัญว่าเราจะได้ตัวแทนของเราเข้าไปได้เท่าไร โดยระบบการเลือกตั้งในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการนับคะแนน ส.ส.เขต มากว่าปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งระบบการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดขึ้นแต่ละปีนั้น จริงๆ แล้วตามระบบสากลไม่ควรถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ควรจะมีมาตรฐานเดิม แต่กลับกลายเป็นว่า ประเทศไทยเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งบ่อยมากตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญ ระบบการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นบัตร 2 ใบ และหารด้วย 100

น.ส.ภัสราวลี กล่าวต่อไปว่า สูตรคำนวณคะแนนเลือกตั้งจะมีสองแบบหลักๆ คือ ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเสียงข้างมาก คือพรรคใดที่ได้คะแนนมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ เน้นการสร้างตัวแทนเชิงพื้นที่ แต่ส่วนที่เสียเปรียบคือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มักจะได้คะแนนเสียง อีกระบบคือการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคือพรรคที่ได้รับที่นั่ง ส.ส. ตามสัดส่วนของคะแนน ก็จะเป็นส่วนของบัญชีรายชื่อ เน้นการสร้างตัวแทนเชิงนโยบาย

อย่างไรก็ตามข้อเสนอ 3 ข้อที่จะพาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยแบบเต็มใบ คือ 1. นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ในขณะนี้ เพราะจะมีความยึดโยงกับประชาชน เราสามารถคาดหวังได้และมีความเชื่อมั่นในเรื่องการตรวจสอบได้ 2. พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดในสภา จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เราไม่อยากให้ซ้ำรอยกับการเลือกตั้งปี 62 ที่พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งมากที่สุดแต่กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ 3. ส.ว. ต้องเคารพเสียงข้างมากของ ส.ส. เพราะ ส.ว. ไม่ได้มีอำนาจต่อประชาชน ส.ส. ที่เราเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนโดยชอบธรรมของเรา

น.ส.ภัสราวลี กล่าวอีกว่า เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องตรวจทานการเลือกตั้งในปี 66 ที่กำลังจะถึงนี้ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างและเกิดเหตุการณ์การเพิ่มลดคะแนน การจัดการคะแนน หรือการแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตยของประชาชน เราต้องไปช่วยกันจับตาดูเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด เพื่อให้เป็นกลไกในการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล เพราะฉะนั้น Vote62 จะเป็นแพลตฟอร์มกลางในการรับข้อมูลและผลคะแนนที่ไปเป็นอาสาสมัครหน้าหน่วยเลือกตั้ง สิ่งที่สำคัญคือการถ่ายภาพคะแนนในคูหาเลือกตั้ง ซึ่งเป็นจุดที่เกิดความผิดพลาดมากในการเลือกตั้งปี 62 ที่ผ่านมา เราต้องถ่ายใบนั้นและส่งเข้า Vote62 จากนั้นกรอกคะแนนตามภาพเพื่อเป็นการบันทึกและยืนยันว่าข้อมูลคะแนนที่ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งมีอะไรบ้าง โดยเราต้องการอาสาสมัคร 1 แสนคน ในการประจำอยู่หน้าหน่วยเลือกตั้งและถ่ายภาพใบนับคะแนน ซึ่งสามารถสมัครได้ที่ Line @vote62