เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) กล่าวแสดงความอึดอัดต่อทีของรัฐบา ลในการให้สัมภาษณ์ของ 2 รัฐมนตรี ที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหา 2 ไฟ ได้แก่ไฟป่าที่ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 และค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลจะประกาศขึ้นราคาในภาคครัวเรือนในเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 ว่าปัญหาการเผาป่าในไร่ข้าวโพดของประเทศไทย และไฟป่าจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลต่อสภาพอากาศของพี่น้องภาคเหนือ โดยเฉพาะคุณภาพอากาศที่เชียงราย ถือว่าสาหัสมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ค่า PM 2.5 สูงถึงเกือบ 500 หน่วย ซึ่งเป็นระดับอากาศที่เป็นพิษ หายใจไม่ได้เลย ตามรายงานทราบว่า มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยายาลอย่างน้อย 3,000 คน ไม่นับรวมคนป่วยที่บ้านอีกเป็นจำนวนมาก รัฐบาลประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 62 แต่กลับไม่มีมาตรการใดๆ ที่จับต้องได้ เพื่อให้ประชาชนมีความหวังว่าจะมีสถานการณ์จะดีขึ้น ตรงกันข้ามสถานการณ์กลับเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ตนรู้สึกอึดอัด และโกรธแทนพี่น้องคนไทยทุกคนที่เดือดร้อน

“ผมเห็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์สื่อที่ถามว่า ถึงเวลาประกาศเป็นภัยพิบัติฉุกเฉินแล้วหรือยัง ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานราชการมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อพี่น้องประชาชน แต่ท่านตอบมาพอสรุปได้ว่า ยังประกาศไม่ได้ เพราะไม่รู้ประกาศไปแล้วจะนำไปสู่การมาตรการอะไร เพราะไม่มีมาตรการใดๆรองรับ และไม่รู้ด้วยว่าจะประกาศในพื้นที่ไหนบ้าง เนื่องจากไม่มีการกำหนดเกณฑ์ว่าคุณภาพอากาศต้องเลวร้ายระดับไหน ถึงจะประกาศเป็นภัยพิบัติ หรือภัยฉุกเฉินได้ ผมเชื่อว่าใครฟังก็คงตกใจและหดหู่ใจว่า ปัญหาระดับวาระแห่งชาติ ที่ประกาศมาแล้ว 4 ปี แทนที่จะกระบวนการช่วยเหลือเฉพาะหน้า เช่น อุปกรณ์เครื่องรองรับบรรเทาปัญหา ทั้งหน้ากาก ยา เวชภัณฑ์ เครื่องฟอกอากาศ หรือแม้แต่การอพยพประชาชนที่อาจมีปัญหาเรื่องภูมิแพ้ ทางเดินหายใจ ออกจากพื้นที่เสี่ยง ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อจะได้มีการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที”

นายกรณ์ กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้า มีชุดความคิดที่เป็นข้อเสนอมาตรการระยะยาวในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาควันภาคเหนือที่ก่อให้เกิด PM2.5 นั้น เกิดจากการเผาในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา และ สปป.ลาว ส่วนหนึ่งเราเข้าใจว่า เกษตรกรต้องทำมาหากินด้วยการปลูกไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อถึงเวลาเตรียมการเพาะปลูกในแต่ฤดู ก็ต้องเผาไร่สร้างมลพิษให้กับพี่น้องประชาชน เราจึงต้องแก้ที่ต้นตอด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ คือ ชักจูงให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนที่ไม่ต้องเผา คือ การปลูกป่าเศรษฐกิจจากพืช 58 ชนิด ที่ได้ปลดแอกให้สามารถปลูกได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีการจ่ายเงินเดือนให้กับเกษตรในจำนวนที่มากกว่าการปลูกไร่ข้าวโพด และในระยะยาวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่วนหนี่งจะเป็นของเกษตรกร และอีกส่วนหนึ่งสามารถผลิตเป็นคาร์บอนเครดิตได้ด้วย สิ่งเหล่านี้เราสามารถระดมทุนผ่านพันธบัตรป่าไม้ ซึ่งพรรคชาติพัฒนากล้าพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการได้ทันทีที่มีโอกาสเข้าไปทำงาน

นายกรณ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านต่างประเทศ เราปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องเร่งประสานไปทางรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว เพื่อหามาตรการควบคุมการเผา ซึ่งความจริงมีสัญญาในกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ว่าด้วยเรื่องของการคุ้มครองการสร้างสร้างมลพิษข้ามชายแดน โดยเฉพาะเรื่องการเผา สามารถนำข้อตกลงนี้ เป็นจุดเริ่มต้นมาเป็นข้อประชุมฉุกเฉินของอาเซียนได้ นอกจากนี้ เราคงต้องทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ต่อการนำเข้าข้าวโพดสัตว์เลี้ยงปลอดภาษีจากประเทศเพื่อนบ้าน ต่อไปต้องกำหนดมาตรการทางภาษี ไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผา ส่งผลให้การนำเข้ายากยิ่งขึ้น และชะลอการเผาลง และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรของไทย ปลูกอย่างอื่นทดแทนที่มีรายได้มากกว่า ลดพื้นที่การเผาป่าลง

“5-6 ปีที่ผ่านมา การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใน 3 ประเทศ เพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่า ซึ่งปริมาณเพาะปลูก เป็นไปในทิศทางเดียวกับปริมาณการเผา อย่างไรก็ตาม เราคงหวังการแก้ปัญหาจากฤดูกาลไม่ได้แล้ว เพราะรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลที่จะกำลังจะมีขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า จะเร่งดำเนินการทันที และพรรคชาติพัฒนากล้าก็ขอสัญญาว่า เป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำให้เกิดมาตรการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และจะทำทำทันที ถ้ามีโอกาสเข้าไปทำงาน ตราบใดที่ยังมีการเผาป่า ผมเป็นหนึ่งคนที่จะต่อสู้แทนพวกท่าน”

ส่วนไฟที่สอง ที่ประชาชนให้ความสนใจมาก คือปัญหาค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลจะปรับราคาค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน แต่ลดให้กับภาคอุตสาหกรรม หลังจากที่ฟัง รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ ทำให้เราไม่สามารถหวังอะไรได้ กับรัฐบาลชุดปัจจุบันในเรื่องนี้ ท่านไม่ได้มีเจตนาไปทบทวนที่การปรับค่าไฟครั้งนี้แต่อย่างใด เป็นอีกเรื่องที่พรรคชาติพัฒนากล้า เราได้นำเสนอนนโยบายนี้ ว่าเราจะมารื้อโครงสร้างพลังงานสาเหตุต้นของค่าไฟที่แพงขึ้นมีหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องของไฟสำรองที่สูงมากไปถึง 50% ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ต้องมีการจ่ายค่าพร้อมซื้อในอัตราที่ค่อนข้างสูง มีผลให้ 20% ของต้นทุนค่าไฟที่แพงขึ้น รวมถึงเรื่องการผลิตแก๊สที่ ปตท.สผ. ไม่สามารถผลิตแก๊สจากอ่าวไทยในปริมาณเท่ากับในอดีต เนื่องจากมีประเด็นปัญหาเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ หลังจากที่ได้ประมูลสิทธิมาจากบริษัทข้ามชาติ คือเชฟรอน

“ซี่งความผิดพลาดในการบริหารของ กฟผ. ในการทำสัญญาซื้อไฟเกินปริมาณที่ต้องการ บวกกับความผิดพลาดของ ปตท.สผ. ที่ไม่ได้เตรียมการให้ดี ทำให้การผลิตแก๊ซจากอ่าวไทยลดลงไปครึ่งนึง เป็นระยะเวลา 2 ปี และเป็นช่วงที่ต้องนำเข้าแก๊สแอลพีจีที่แพงมาก เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น คำถามคือแล้วทำไมประชาชนต้องแบกรับภาระ หน่วยงานที่ผิดพลาด กระทรวงที่กำกับดูแล มีความรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร กับการปรับค่าไฟที่ไม่เป็นธรรม”

นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของพรรคชาติพัฒนากล้า มีนโยบายเรื่องการปรับโครงสร้างไฟฟ้า โดยการเปิดเสรีเรื่องการผลิตและการขายไฟฟ้า เพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยี และมีกองทุนโซลาร์รูฟท็อป แทนที่จะเป็นเพียงผู้บริโภค และมีกองทุนเพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน ในการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาตัวเอง โดยไม่มีภาระดอกเบี้ย และส่วนของค่าแผงโซลาร์เซลล์ จะได้เงินคืนจากเงินที่ประหยัดจากค่าไฟที่ลดลง และส่วนของไฟฟ้าที่ผลิตเกิน สามารถขายกลับเข้าสู่ระบบการไฟฟ้าได้ ในราคาเดียวกับที่ท่านรับซื้อจากการไฟฟ้า ซื้อและขายกลับในราคาเดียวกัน ถ้าเรามีโครงสร้างที่ชัดเจนอย่างนี้ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศ จาก ณ ปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่พึ่งพาการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่จะสลับเปลี่ยนเป็นการพึ่งพาพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์อย่างรวดเร็วแน่นอนโดยใช้กลไกตลาด ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ เป็นตัวพิสูจน์ทุก ๆ เรื่อง สามารถแก้ปัญหาที่ต้นตอ เกิดจากความตั้งใจทางเศรษฐกิจ ในการสร้างรายได้ และนี่คือจุดยืนของเรา พรรคชาติพัฒนากล้า

ทางด้าน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยว่า วันที่ 30 มี.ค.นี้  เวลา 13.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวนตนเอง และ กกต. คดีการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ขัดต่อ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พวกเราทุกคนจะได้ทราบว่า 1.ทำไมต้องรวมตำบล (แขวง) เป็นเขตเลือกตั้งทำให้ 13 เขตเลือกตั้งไม่มีอำเภอหลัก ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้ “รวมอำเภอ เป็นเขตเลือกตั้ง” 2.ทำไม กกต. ต้องละลายเขตเลือกตั้งเดิม โดยเขตเลือกตั้งใหม่ 33 เขตของ กทม. มีลักษณะเหมือนเขตเดิมปี 54 และ 57 ที่ใช้ระบบเลือกตั้งเดียวกัน เพียงแค่ 4 เขตเท่านั้น และ 3.เหตุผลอะไร ที่ต้องการให้ระบบตัวแทนประชาชนอ่อนแอลง โดย ส.ส. ไม่ผูกพันกับประชาชนในพื้นที่ เพราะถูกรื้อเขตเลือกตั้งได้เพียงแค่อาศัยระเบียบภายในของ กกต. 

“ผมเขื่อว่าศาลปกครองสูงสุดทำงานได้เร็ว และยังคุมกรอบวันเลือกตั้งเดิมได้ ซึ่งวันที่ 30 มี.ค. นี้ พบกันที่ศาล” นายอรรถวิชช์ กล่าว