ไม่มีใครระบุได้อย่างแน่ชัดว่า ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง กับ สงกรานต์ของคนภาคกลาง เทศกาลใดเกิดก่อนกัน แต่ทั้งสองก็คือวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่นเดียวกับเรื่องราวของการทำ “นํ้าทิพย์ศักดิ์สิทธิ์” ตามความเชื่อของล้านนา ที่ไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แต่มีการทำนํ้าทิพย์ หรือนํ้าศักดิ์สิทธิ์ เพื่อใช้ในการสรงนํ้า ทั้งพระพุทธรูปสำคัญ พระบรมสาริกธาตุ พระเจดีย์องค์สำคัญ รวมถึงการสรงนํ้าพุทธาภิเษกขององค์พระมหากษัตริย์

นํ้าที่จะนำมาทำนํ้าทิพย์นั้นจะต้องได้มาจากแหล่งนํ้าที่มีประวัติตำนาน หรือความเชื่อว่าเป็นแหล่งนํ้าที่มีความศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นแหล่งนํ้าที่เทวดาอารักษ์ของเสื้อบ้านเสื้อเมือง หรือผีอารักษ์เสื้อเมืองนั้นสถิตรักษาอยู่ หรือถูกยกย่องให้เป็นอารักษ์เมือง จึงจะถือว่าเป็นแหล่งนํ้าศักดิ์สิทธิ์ที่จะนำมาทำ “นํ้าทิพย์” ที่เพิ่มกระบวนการขั้นตอนให้เกิดความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ในตัว

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ได้ร่วมกับ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ดำเนินการสืบค้นขั้นตอนการทำนํ้าทิพย์โบราณจากปราชญ์ผู้รู้ของเมืองเชียงใหม่หลายท่าน ได้แก่ พ่ออาจารย์ศรีเลา เกษพรหม ปราชญ์ล้านนา ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรล้านนาและพิธีกรรมล้านนา, อาจารย์เกรียงไกร บุญทนา ปราชญ์ล้านนา ผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมความเชื่อล้านนา, พระอาจารย์ศุภชัย ชยสุโภ วัดบุปผาราม หรือวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ โดยรวบรวมข้อมูลเพื่อรื้อฟื้นประเพณีความเชื่อดั้งเดิมของคนล้านนาเชียงใหม่ที่ขาดหายไปนานนับร้อยปีให้กลับมาอีกครั้ง

สำหรับกิจกรรม “นํ้าทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเป็นการฟื้นฟูพิธีกรรมล้านนาโบราณในการทำนํ้าทิพย์ที่สูญหายไปจากเมืองเชียงใหม่แล้วนับร้อยปี กลับมาให้ชาวเชียงใหม่ชนรุ่นหลังและประชาชนได้รู้จักหวนรำลึกถึงประเพณีโบราณ และนักท่องเที่ยวได้ร่วมประสบการณ์พิธีกรรมลํ้าค่าที่สัมผัสได้ยาก รวมทั้งเป็นการเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่ อายุครบ 727 ปี โดยการนำนํ้าจากแหล่งนํ้าที่มีความเชื่อว่าเป็นแหล่งนํ้าศักดิ์สิทธิ์ 9 แหล่งสำคัญทั่วเมืองเชียงใหม่ อัญเชิญมาประกอบพิธีในการหุงนํ้าทิพย์โบราณ และประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ “พุทธาภิเษกนํ้า” ความเชื่อเก่าแก่ของล้านนา โดย 9 แหล่งนํ้าศักดิ์สิทธิ์สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ วัดป่าแดด อ.เมือง, วัดพุทธเอ้น อ.แม่แจ่ม, อ่างกาหลวง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, ขุนนํ้าแม่ปิง อุทยานแห่งชาติผาแดง อ.เชียงดาว, วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อ.แม่แตง, วัดดับภัย อ.เมือง, วัดผาลาด อ.เมือง, วัดบุพพาราม อ.เมือง และวัดเจดีย์เหลี่ยม อ.เมือง

พิธีอัญเชิญนํ้าศักดิ์สิทธิ์จากบ่อศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 9 แห่ง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-9 เมษายน 2566 และจะนำนํ้าศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดมาประกอบพิธีหุงนํ้าทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ในวันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 09.09 น. ณ พระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พร้อมกับมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ในวันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566 เวลา 09.09 น. ณ พระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

จากนั้นในวันพุธที่ 12 เมษายน 2566 จะมีงาน “ยอสวย ไหว้สา พญามังราย” ณ ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เวลา 07.30 น. เป็นต้นไป และจะมีขบวนแห่ “ไหว้สาจุมสะหรีนํ้าทิพย์ปี๋ใหม่เมือง” เวลา 16.00-17.00 น. เส้นทางข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์-วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน 2566 มีขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พร้อมพระพุทธรูปสำคัญจากจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้สรงนํ้าพระ เริ่มต้นขบวน ณ บริเวณสี่แยกสันป่าข่อยสิ้นสุดที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วันเสาร์ที่ 15 เมษายน 2566 มีกิจกรรม “ตักบาตรโชติกา สรงนํ้าทิพย์ ห่มผ้ามหาเจดีย์” ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป และ “ประเพณีแห่คํ้าโพธิ์จอมทอง ประจำปี 2566” ณ วัดพระธาตุศรีจอมทองเริ่มขบวนตั้งแต่ถนนข่วงเปา ไปตามถนนเชียงใหม่-จอมทอง เวลา 12.00 น.

นางสาวสุลัดดา ศรุติสาวัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมงาน “นํ้าทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566” ซึ่งเป็นงานที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เพื่อร่วมฟื้นฟูพิธีกรรมล้านนาโบราณในการทำนํ้าทิพย์ ที่ได้สูญหายไปจากเมืองเชียงใหม่ให้กลับมาเป็นที่รู้จักในชนรุ่นหลัง เพื่อที่จะได้เป็นการหวนรำลึกถึงประเพณีโบราณนี้ และเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมเปิดประสบการณ์ในพิธีกรรมอันลํ้าค่าที่สัมผัสที่ไหนไม่ได้นอกจากเมืองเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีท้องถิ่นอันดีงามที่ชาวเชียงใหม่และชาวล้านนาปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่อดีต ประกอบกับในปี 2565 จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็น “World Festival And Event City” งานประเพณีสงกรานต์จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นล้านนา ตามแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของ
นักท่องเที่ยว ด้วยการพลิกโฉมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนภายใต้แคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” โดยนำเสนอความพิเศษในการท่องเที่ยวผ่านเมนูประสบการณ์ที่มีคุณค่าเหนือราคา ผ่านสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว (T) Thai Wisdom to Discover เพื่อเป็นการกระตุ้นความถี่การเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทย ให้เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ รับนํ้าทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ 2566 เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่เมือง โดยกำหนดจุดแจกนํ้าทิพย์ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามสถานที่สำคัญ 9 จุด ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2566 จำนวน 10,727 ขวด ให้สอดคล้องกับการที่จังหวัดเชียงใหม่มีอายุครบ 727 ปี ในปี 2566

นักท่องเที่ยวสามารถรับนํ้าทิพย์ปี๋ใหม่เมืองได้ ณ จุดแจกนํ้าทิพย์จำนวน 9 จุด ในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร, วัดโลกโมฬี, วัดบุพพาราม, วัดป่าแดด, วัดดับภัย, ศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ และศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

นอกจากนี้ ททท. ยังได้มอบสิทธิพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “อะเมซิ่ง โลคัล…ลํ้าลำ” โดยเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาร่วมสัมผัสประสบการณ์ความอร่อยจากเมนูหลากหลาย อาทิ เมนูมิชลินเชียงใหม่ เมนูอาหารถิ่น ฯลฯ พร้อมชวนนักท่องเที่ยวร่วมเดินทางสักการะ วัดศักดิ์สิทธิ์ 7 แห่ง อาทิ วัดป่าแดด, วัดพุทธเอ้น, วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์, วัดผาลาด, วัดดับภัย, วัดบุพพาราม และวัดเจดีย์เหลี่ยม ซึ่งเป็นวัดที่มีบ่อนํ้าศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาใช้ในพิธีหุงนํ้าทิพย์ โดยวัดเจดีย์เหลี่ยมเป็นวัดโบราณที่มีสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมที่มีความสวยงาม และมีประวัติ มีเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดส่งต่อจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้กันอีกด้วย สอบถามได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ Line : @TAT
CHIANGMAI และ Page Face Book : tatchiangmai

อธิชา ชื่นใจ