โดยเฉพาะนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” ของพรรคเพื่อไทย ที่ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ได้ประกาศไว้บนเวทีแถลงนโยบาย โดยจะเป็นการแจกเงิน ในรูปแบบ “เหรียญดิจิทัล” ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนกว่า 54 ล้านคน เป็นเงินคนละ 10,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขสถานะทางเศรษฐกิจ โดยใช้จ่ายผ่านกระป๋าเงินดิจิทัลที่จะถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งมีตัวเลขงบประมาณที่ต้องใช้เงินภาษีกว่า 540,000 บาท

แม้นโยบาย “เงินดิจิทัล” จะได้รับความสนใจจากคนในสังคมอย่างมาก จนกลายเป็นกระแสร้อนแรงในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็เจอกระแสรุมจวกจากฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน ไล่ตั้งแต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาส่งสัญญาณว่า ธนาคารแห่งประเทศ และกระทรวงการคลัง ขอให้ระมัดระวังเรื่องความมีเสถียรภาพของสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ

ตามด้วย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แม้จะออกตัวว่าไม่ขอวิจารณ์นโยบายเงินดิจิทัล แต่ก็ยังเหน็บว่านโยบายของพรรคการเมือง จะต้องไม่พาประเทศไปตายเอาดาบหน้า ทุกอย่างต้องมีความชัดเจน ที่มาที่ไปของรายได้ รวมถึงไม่เป็นนโยบายรายวัน ซึ่งจะทำให้ในอนาคตประเทศเกิดความสุ่มเสี่ยง หรือพาประเทศไปตายเอาดาบหน้าหรือไม่

ทั้งนี้ จากดราม่าร้อนดังกล่าว ก็เข้าทาง ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้อง (เรียน) ชื่อดัง ที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง ตรวจสอบกรณีนโยบายเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย ขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตราหรือไม่ เนื่องจากเงินดิจิทัลดังกล่าว ไม่ใช่คริปโตฯ (Cryptocurrency) แต่เป็นเพียงเหรียญ (คูปอง) ที่สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ ซึ่งอาจถือได้ว่า พรรคเพื่อไทยกำลังจะสร้างเงินตราในรูปแบบใหม่ขึ้นมาใช้ จึงอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 และอาจมีความผิดฐานหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการเศรษฐกิจการคลัง ได้ชี้แจงต่อ ที่ประชุม ครม.ว่างบประมาณปี 67 กำลังออกนั้น หลังจากหักงบประจำ งบเงินเดือน งบผูกพัน และงบใช้จ่ายหนี้เงินกู้ ยังเหลือวงเงินที่มาบริหารจัดการโครงการใดก็ได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท เว้นแต่ว่าถ้าเก็บภาษีได้เพิ่มโดยอัศจรรย์ หรือได้มาโดยวิธีอื่น ยอดเงินทั้งหมดของงบประมาณที่เตรียมไว้ที่ทำเสร็จแล้ว รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาปรับปรุงแน่ และจะจัดการอย่างไร ก็จะจัดการกับเงิน 200,000 ล้านบาทนี้

ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่านโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” ของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องใช้งบกว่า 540,000 ล้านบาทนั้น อาจจะสวนทางกับเงินในกระเป๋าของรัฐบาลรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่

นอกจากนั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร ยังได้ออกมาเปรียบเทียบยอดเงินในการดำเนินการตามนโยบายหาเสียงของพรรคต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า พรรคพลังประชารัฐ เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน 14 ล้านคน 4 ปี รวมกว่า 466,400 ล้านบาท ส่วน พรรคเพื่อไทย เติมเงิน 10,000 บาท ใส่กระเป๋าเงินดิจิทัล ให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป 54 ล้านคน ให้ครั้งเดียว รวม 540,000 ล้านบาท พรรครวมไทยสร้างชาติ เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,000 บาทต่อเดือน 14 ล้านคน 4 ปี รวมกว่า 672,000 ล้านบาท พรรคก้าวไกล-ไทยสร้างไทย บำนาญประชาชน 60 ปีขึ้นไป เดือนละ 3,000 บาท 12 ล้านคน 4 ปี รวมกว่า 1,728,000 ล้านบาท และปิดท้ายด้วย พรรคพลังประชารัฐ กับนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปี 3,000 บาท 70 ปี 4,000 บาท 80 ปี 5,000 บาท 4 ปี รวมแล้วมากกว่า 2,000,000 ล้านบาท

สุดท้ายคงจะต้องอาศัย กกต. ที่จะต้องออกแอ๊คชั่นในฐานะ “กรรมการคุมกติกา” โดยตรวจตราดูให้ดีว่านโยบายอะไรจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรืออาจจะสุ่มเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อประเทศจากการดำเนินนโยบายที่มากจนเกินควร!

แต่ขณะเดียวกัน กกต.เองก็ขยันสร้างดราม่าร้อน ได้แบบไม่หยุดหย่อน โดยล่าสุดจากการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ของ กกต. ทั้ง 6 คน ที่ทยอยเดินทางไปดูการเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่ช่วงวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา กระจายกันไปในหลายประเทศ ไล่ตั้งแต่ ฮังการี สโลวาเกีย แอฟริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย ก่อนจะเริ่มทยอยเดินทางกลับ โดยมีกำหนดนัดประชุม กกต. อีกครั้ง ในวันที่ 25 เม.ย. หรือเหลือเวลาอีกเพียง 19 วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้ง

จนเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะการไปต่างประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนจะจัดการเลือกตั้งใหญ่เพียงไม่กี่วันนั้น อาจจะทำให้แก้ปัญหาได้ไม่ทันการ อย่างกรณีการขยายลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ก็ทำให้คนเสียสิทธิไปโดยความผิดพลาดของ กกต.เอง!

ทั้งนี้ ปรับโฟกัสมาที่บริบทการเมืองโดยรวม ก็ต้องยอมรับว่า สภาพการเมืองตอนนี้เหมือนกับการต่อสู้ระหว่างขั้วการเมืองแต่ละฝ่าย โดยไร้ซึ่งพื้นที่กึ่งกลาง จะมีเพียงการแบ่งโซนซ้ายสุดขั้ว และขวาสุดขีด ที่จะส่งผลไปถึงประชาชนที่จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน โดยซ้ายสุดขั้วอยู่ที่ พรรคก้าวไกล เป็นหลัก และอาจจะหมายรวมไปถึง พรรคเพื่อไทย ที่แม้จะไม่มีนโยบายยกเลิก มาตรา 112 แต่ก็ไม่ปฏิเสธในการนำเสนอกฎหมายเพื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ส่วนฝากฝั่งขวาสุดขีด ก็หนีไม่พ้น “บิ๊กตู่” ที่ผนวกกำลังกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดจน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ที่เริ่มประกาศชัดต่อต้านนโยบายที่เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112

ขณะที่สถานการณ์เกมเลือกตั้ง สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ ตอนนี้โพลวงในชัดเจนเลยว่าคะแนนนิยมของ “บิ๊กตู่” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ แต่ถึงอย่างนั้นโอกาสที่จะทำให้ได้ ส.ส.ถึง 100 คน ตามที่ “บิ๊กตู่” ตั้งความหวังเอาไว้นั้น ค่อนข้างเป็นเป้าหมายที่เดินไปถึงได้ลำบาก ด้วยจุดอ่อนสำคัญอยู่ที่การเติมแต้ม ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะตอนนี้ประชาชนไม่รู้จัก ส.ส.เขตของพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่จะเป็นการชู “บิ๊กตู่” เป็นจุดขายหลักของพรรคเพียงคนเดียว

แต่งานนี้ภายในพรรคก็มีการเริ่มจัดทัพโดยการตั้ง 8 ขุนพล คณะทำงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์ รวมทั้งตั้งรองหัวหน้าพรรค 4 คนรวด ประกอบด้วย สุชาติ ชมกลิ่น, ธนกร วังบุญคงชนะ, อนุชา บูรพชัยศรี และ เสกสกล อัตถาวงศ์  ขึ้นมาเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง ดังนั้น จะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการจัดขบวนทัพของรวมไทยสร้างชาติในรอบนี้ จะส่งผลต่อกลยุทธ์ในการสู้ศึกเลือกตั้งอย่างไร และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อผลการเลือกตั้งไปในทิศทางใด

ล่าสุด พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เผยแพร่คลิปวิดิโอหาเสียง “ของจริงยิ่งกว่า 10,000 บาท” โดยเป็นเรื่องราวของบัตรสวัสดิการพลัส หรือ “บัตรลุงตู่” โดยเน้นจุดขายที่สามารถใช้บัตรประชาชนอัจฉริยะเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล วอลเล็ต เติมเงินให้ผู้มีรายได้น้อยทุกเดือน ใช้ได้ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ แบบไม่จำกัดระยะ ซึ่งก็ถือเป็นการปรับแผนสู้นโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” อย่างเห็นได้ชัด

ส่วน พรรคพลังประชารัฐ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีการเปลี่ยนเกมจากเล่นบทเป็นมือดีลจัดตั้งรัฐบาล แบบ “ดีลทุกพรรค รักทุกขั้ว” แต่ล่าสุดกลับลำ ประกาศชัดว่าจะไม่จับมือ พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุผลที่ว่านโยบายไม่ตรงกัน แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา คือผลโพลหลายสำนัก ที่ชี้ชัดว่าเรตติ้งของพรรคพลังประชารัฐหล่นวูบ จากความไม่ชัดเจนว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองในซีกฝ่ายไหน จึงกลายเป็นโจทย์ที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ต้องออกแอ๊คชั่นปรับกลยุทธ์ในครั้งนี้

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย แม้จะตกเป็นเป้านิ่งโดนถล่ม แต่ในทิศทางกลับกันกลับทำให้กระแสนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” กลายเป็นที่สนใจของประชาชนมากขึ้นไปอีก ล่าสุด “เศรษฐา” ออกมาเบ่งกล้ามโชว์ว่ายังไหว พร้อมย้ำว่า การหารายได้เป็นเรื่องที่สำคัญ ยืนยันว่างบประมาณที่เหลือ 2 แสนกว่าล้านบาท ไม่ได้เป็นปัญหา ส่วนที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่านโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลจะได้ไม่คุ้มเสียนั้น มองว่าทุกภาคส่วนมีความเป็นห่วง แต่เรามั่นใจในนโยบายว่าถูกต้องและโดนใจประชาชน

และที่น่าสนใจไม่แพ้ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ก็หนี้ไม่พ้นท่าทีของ “โทนี่ วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศงดรายการ “CareTalk กับพี่โทนี่” ชั่วคราว ไปจนถึงหลังเลือกตั้ง ซึ่งก็มองได้ว่าเพราะที่ผ่านมาการที่ “ทักษิณ” ผลีผลามโยนโจทย์จะกลับบ้านหลังเลือกตั้ง ทำให้คนกังวลว่าจะกลายเป็นการก้าวไม่ข้ามความขัดแย้งทางการเมืองรูปแบบเดิมๆ และอาจจะเป็นการก่อสงครามความขัดแย้งครั้งใหม่หรือไม่ แต่การไม่ได้จัดแคร์ทอล์ก ไม่ได้หมายความว่า “ทักษิณ” หายไปไหน แต่ยังคงมีบทบาทอยู่หลังฉาก วางเกม จัดทัพ เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่

ปิดท้ายกันด้วยเรตติ้งพรรคการเมือง ที่สะท้อนออกมาจากผลโพลหลายสำนัก ต่างก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า กระแสของพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ตกลงไป ขณะที่พื้นที่สำคัญอย่าง กทม. ก็มีผลสำรวจที่น่าสนใจจาก “นิด้าโพล” ที่สะท้อนว่า ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นสนามเลือกตั้ง กทม. อาจจะมีแค่ 3 พรรค ที่ได้ ส.ส. คือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนพรรคที่เหลืออาจถึงขั้นสูญพันธุ์ เพราะคะแนนทิ้งห่างกันเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาหลังจากนี้จนถึงวันเลือกตั้ง ท่ามกลางบรรยากาศหาเสียงเรียกเรตติ้งในการเลือกตั้ง การฟาดฟันนโยบายกันอย่างดุเดือด ประชาชนคงจะต้องพิจารณานโยบายแต่ละพรรคให้ถี่ถ้วน เพื่อให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นทางออกของประเทศอย่างแท้จริง.