สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์มส. ประธานกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยมีผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ผู้บริหาร มท. ผู้แทนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมประชุม ที่ห้องประชุมราชบพิธ กระทรวงมหาดไทย และผ่านระบบ Video Conference ไปยังศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และสำนักงานเจ้าอาวาสทั่วประเทศ

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวว่า การสาธารณสงเคราะห์ คือ การช่วยเหลือสังคมทางวัตถุในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย ใช้พื้นที่ของวัดเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล ช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน สงเคราะห์สถานที่จัดฝึกอบรมอาชีพต่างๆ แก่ประชาชน และเป็นศูนย์รวมของการทำกิจกรรมของชุมชน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ประชาชน ที่ผ่านมาคณะสงฆ์ดำเนินงานด้านสาธารณสงเคราะห์ ในหลักการ 4 ด้าน คือ 1.สงเคราะห์ 2.เกื้อกูล 3.พัฒนา และ 4.บูรณาการ โดยมีแนวทางการสร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานร่วมกัน ทั้งนี้ ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมส.จะส่งเสริมใน 8 ประการ คือ 1. เผยแผ่หลักธรรมคำสอนในการเสริมสร้างให้คนมีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศล เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา 2. ช่วยสงเคราะห์พุทธศาสนิกชนให้มีขวัญกำลังใจในการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ “โคก หนอง นา” 3. สนับสนุนให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม มีจิตอาสาความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้เกิดสังคมสุขภาวะและความยั่งยืน 4. ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือและพัฒนาสังคมทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ 5. ส่งเสริมสนับสนุนพระสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ องค์กรพระพุทธศาสนา ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” 6. ขับเคลื่อนพันธกิจฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมส.ด้านการสงเคราะห์เพื่อสังคม 7. พัฒนางานสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์และพัฒนางานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) สร้างสังคมสุขภาวะสู่นโยบายระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ 8. พัฒนาระบบกลไกการบูรณาการการทำงานด้านสาธารณสงเคราะห์ร่วมกันระหว่างองค์กรสงฆ์ ภาคีเครือข่าย สร้างการรับรู้และเชื่อมประสานการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ พระสังฆาธิการ พระสงฆ์นักพัฒนา และประชาชน เพื่อพัฒนาการทำงานสาธารณสงเคราะห์ การสงเคราะห์ชุมชน และพัฒนาการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวอีกว่า ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของ มส. กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงาน ดังนี้ 1.ให้จังหวัดทุกจังหวัดร่วมดำเนินการสาธารณสงเคราะห์ร่วมกับศูนย์ประสานงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัด ตามมติที่ประชุม มส. ครั้งที่ 19/2565 ที่ได้มีมติให้เจ้าคณะจังหวัดและคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัดคัดเลือกพื้นที่จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัด” เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายในการช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ในพื้นที่ 2.ให้พระสงฆ์ร่วมบูรณาการทำงานกับฝ่ายปกครองและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ส่งเสริมภูมิปัญญาการหาเลี้ยงชีพ ด้านจิตอาสาเพื่อสังคม ด้านเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง และด้านอื่นๆ ตามบริบทและสถานการณ์ในพื้นที่ 3.ให้ฝ่ายปกครอง จัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ เป็นที่ปรึกษาการให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับพระสงฆ์ จัดตั้งหน่วยฝึกอบรม ศูนย์เรียนรู้ โดยใช้สถานที่ภายในวัดเป็นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ 4.ร่วมถอดบทเรียนวัดที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งเป็นต้นแบบ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนให้เกิดคุณประโยชน์กับวัดอื่นต่อไป

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกจังหวัดได้นำบันทึกข้อตกลงฯ เป็นกรอบในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในระดับพื้นที่ เพื่อจะได้มีภาคีเครือข่ายในพื้นที่มาเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนภายใต้กรอบของบันทึกข้อตกลง ทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือฯ ในระดับจังหวัด ที่ศาลากลางจังหวัด และระดับอำเภอที่ว่าการอำเภอ รวมถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ในสถานที่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งนิมนต์พระสังฆาธิการเพื่อจับคู่ 1 พระสังฆาธิการ 1 ภาคราชการ ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชน

นายอินทพร จั่นเอี่ยม รอง ผอ.รักษาราชการแทน ผอ.พศ. กล่าวว่า หลังจากนี้การจัดตั้งศูนย์ภาคีเครือข่ายของ มท. จะเป็นการเสริมพลัง “บวร” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยมี ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ร่วมสนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัดในการสนองงานคณะสงฆ์ให้เกิดเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวยังมีการรายงานผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน จากจังหวัดพื้นที่ต้นแบบ ประกอบด้วย ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่ วังอ้อ ต.หัวดอน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี โครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง” ณ วัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี โครงการขับเคลื่อนและพัฒนาแนวทาง CLM ดอยอินทรีย์ แม่แบบ พัฒนาสู่เขตพัฒนาวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย อ.พาน จ.เชียงราย การดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง ต.ตาโกน อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ พื้นที่นำร่องในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล ที่ชุมชนบางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี