เมื่อวันที่ 23 เม.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ได้โพสต์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ “พายุฤดูร้อน” โดยข้อสังเกตของพายุฤดูร้อนนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะถ้ามีอากาศร้อนถึงร้อนจัดต่อเนื่อง มีโอกาสสูงที่พายุฤดูร้อนจะรุนแรงมากขึ้น โดยจะมีลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกและฟ้าผ่าร่วมด้วย

ด้านผลกระทบ สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินได้เป็นจำนวนมาก แม้จะเกิดในบริเวณไม่กว้างนัก ลมกระโชกแรง สามารถพัดทําลายสิ่งต่างๆบนพื้นดิน ต้นไม้ สิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง ลูกเห็บสร้างความเสียหายให้บ้านเรือนและผลผลิตทางการเกษตร ฟ้าผ่าเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ ฝนที่ตกในเขตเมืองที่ระบายไม่ทัน อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ได้

สำหรับการเตรียมการรับมือ
⁃ ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด
⁃ หลบเลี่ยงบริเวณที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อยู่ภายในอาคารที่แข็งแรง หรือในรถยนต์
⁃ หลีกเลี่ยงวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าทุกชนิด เช่น ลวด โลหะ แนวรั้วและอุปกรณ์ทำสวน
⁃ ไม่ควรใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดและไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับ โลหะขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
⁃ สัตว์เลี้ยงไม่ควรสวมใส่โลหะและผูกไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่
⁃ ควรดูแลสิ่งของ เช่น ต้นไม้ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า และ บ้านเรือน ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอันตรายและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น