เมื่อวันที่ 29 เม.ย. “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี “คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง)” ระหว่างวันที่ 10-20 เมษายน 2566 เก็บข้อมูลทางภาคสนาม จำนวน 162,454 คน เป็นเพศชาย จำนวน 74,073 คน ร้อยละ 45.60 เพศหญิง จำนวน 88,381 คน ร้อยละ 54.40 โดยมีอายุระหว่าง 18-30 ปี จำนวน 31,627 คน ร้อยละ 19.47 อายุ 31-50 ปี จำนวน 72,808 คน ร้อยละ 44.82 และอายุ 51 ปีขึ้นไป จำนวน 58,019 คน ร้อยละ 35.71 โดยสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 13,368 คน ร้อยละ 8.23 ภาคกลาง จำนวน 43,023 คน ร้อยละ 26.48 ภาคเหนือ จำนวน 27,664 ร้อยละ 17.03 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 53,865 ร้อยละ 33.16 และภาคใต้ จำนวน 24,534 คน ร้อยละ 15.10

พรรคการเมืองที่นิยมมากที่สุดในช่วงก่อนเลือกตั้ง คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 41.37 รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 19.32 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 9.55 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 8.48 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.49 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.30 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 2.41 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.74 พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 1.25 และพรรคอื่น ๆ ร้อยละ 1.09

เมื่อพิจารณาจำแนกตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 18-30 ปี นิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด ร้อยละ 50.20 กลุ่มอายุ 31-50 ปี และกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ร้อยละ 44.59 และ ร้อยละ 44.92 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ร้อยละ 41.99, ร้อยละ 42.11, ร้อยละ 49.24 และร้อยละ 48.92 ตามลำดับ ส่วนภาคใต้นิยมพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ร้อยละ 24.20

จากผลการสำรวจครั้งนี้ ภาพรวมกระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยแม้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลช่วงก่อนยุบสภา แต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมในทุกภูมิภาคแม้แต่ในภาคใต้ก็ถือได้ว่าได้รับผลตอบรับที่ไม่แย่นัก ส่วนพรรคก้าวไกลกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคก็ต้องมาติดตามกันต่อว่า จะเปลี่ยนกระแสเป็นคะแนนในวันเลือกตั้งจริงได้เท่าใด ส่วนพรรคอื่น ๆ กระแสความนิยมไม่ต่างจากเดิมมากนัก

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรศักดิ์ มั่นศิลป์ รองคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้ความเห็นว่า จากผลโพลเรื่องคนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง) อันดับ 1 คือ เพื่อไทย สอดคล้องกับนโยบายประชานิยมต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ค่อนข้างได้รับการตอบรับอย่างมาก อันดับ 2 ก้าวไกล บุคลิกที่โดดเด่นของหัวหน้าพรรคและผู้สมัครของพรรคในการออกสื่อหาเสียงตามรายการทีวีและสื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันดับ 3 ภูมิใจไทย นโยบายต่างๆ เช่น การพักหนี้ 3 ปี ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในเรื่องการลดค่าครองชีพ อันดับ 4 รวมไทยสร้างชาติ จุดขายยังคงเป็นเรื่องความซื่อสัตย์และนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป อันดับ 5 พลังประชารัฐ เน้นเรื่องการลดความขัดแย้งและนโยบายสวัสดิการที่ประชาชนเห็นว่าพอจับต้องได้ อันดับ 6 ประชาธิปัตย์ นโยบายเรื่องธนาคารหมู่บ้านแห่งละ 2 ล้าน ถือว่าเป็นจุดขายของพรรค ในส่วนไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย และชาติไทยพัฒนา ยังได้รับความสนใจจากประชาชนในระดับหนึ่งตามลำดับ