ที่ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 1 พ.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้คลอดบุตรชายเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า ตนส่งข้อความผ่านไลน์คุยกันแล้ว โดยได้แสดงความยินดีทั้งคุณแม่และลูกชาย สุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ดี ก็ให้กำลังใจ และดีใจที่คลอดออกมา

เมื่อถามถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวอยากกลับมาเลี้ยงหลาน นายเศรษฐา ระบุว่า “เป็นสิทธิของท่าน ผมก็เข้าใจความเป็นคุณพ่อและคุณตา”

เมื่อถามว่าการทวีตของนายทักษิณ เป็นการเรียกเรตติ้งให้พรรค พท. หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า คงไม่ใช่ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ และตนไม่ทราบด้วยว่าจะเป็นเหตุผลของการเรียกกระแสแลนด์สไลด์หรือไม่ เพราะตนมีหน้าที่นำเสนอนโยบายอย่างเดียว

“หวังว่า น.ส.แพทองธาร แข็งแรงหลังการคลอดลูกแล้ว ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งก็จะได้เห็นแคนดิเดตนายกฯ ทั้ง 3 คน ปราศรัยหาเสียงกันอีกครั้ง และขอให้ฟังการแถลงข่าวของ น.ส.แพทองธาร ตอนนี้ต้องให้เกียรติท่านก่อน โดยขอให้พักผ่อนก่อน”

เมื่อถามว่ามีประชนชนแสดงความเป็นห่วงอาการไข้และเสียงที่แหบของนายเศรษฐา โดยนายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่เป็นไร สู้ได้สบาย เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา กลับจากเวทีปราศรัย จ.บุรีรัมย์ ก็มาโรงพยาบาลให้น้ำเกลือแล้ว ยืนยันตนยังมีความพร้อมในการลงพื้นที่ ไม่ต้องห่วง ยังสบายอยู่ ไม่มีปัญหา เพียงแต่เสียงไม่ดีเท่านั้น ทุกอย่างยังสู้อยู่ วันนี้ตนมาสกลนคร เพื่อมาให้กำลังใจผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรค พท. ทุกคน ถึงอย่างไรตนก็ต้องมาและพรรค พท. ต้องได้ ส.ส.สกลนคร ยกจังหวัด

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ได้พูดช่วงหนึ่งในเวทีปราศรัย จ.สงขลา โดยถามประชาชนว่าอยากได้นักธุรกิจมาบริหารประเทศหรือ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่มีความเห็นอะไร ก็ให้คนสงขลาตัดสิน หากหมายถึงสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงตนเองก็ไม่เป็นไร ก็โอเค ทุกคนที่เป็นประชาชนที่มีความหวังดีกับประเทศชาติก็มีสิทธิที่จะบริหารประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักธุรกิจ ข้าราชการ

เมื่อถามถึงกรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. บอกว่า สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากมีความสามารถที่จะต่อต้านระบอบทักษิณ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพียงแต่ระบุว่า พรรค พท.ยึดโยงประชาชน นำปัญหาปากท้องและสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ นายเศรษฐา ได้โพสต์คลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กเนื่องในวันแรงงาน วันที่ 1 พ.ค. 66 ระบุว่า แรงงานถือเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ พี่น้องแรงงานต้องได้รับการพัฒนาทั้งด้านศักยภาพและสวัสดิการ คุณภาพชีวิตของทุกคน ต้องดีขึ้น ภายใต้การนำของพรรค พท. นโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ว่า การแก้ปัญหาค่าครองชีพและความเหลื่อมล้ำอันต้องมองแบบบูรณาการ ตนเชื่อว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยจำนวนมากมีปัญหาเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ ซึ่งฉายภาพให้เห็นก็คือ 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็นมีการปรับค่าแรงขึ้นเพียง 54 บาท จาก 300 บาทเป็น 354 บาท เงินเดือนในการจ้างงานผู้ที่จบวุฒิปริญญาตรี ได้มีการปรับขึ้นเพียง 1 ครั้ง จาก 14,000 เป็น 15,000 บาทในปี 58

นายเศรษฐา ระบุว่า อยากชี้ให้เห็นปัญหาความลำบากของพี่น้องประชาชนชาวไทยนี้ไม่ได้มีแค่มิติเดียว แต่มี 2 เรื่องที่ทับซ้อนกันอย่างแยกไม่ออก โดยมิติแรก ถ้าดูกันแบบตรงๆ ก็จะเป็นปัญหาเรื่องของค่าครองชีพ หากมองอัตราเงินเฟ้อกับค่าแรงขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว จะเห็นว่าระหว่างปี 57 กับปี 65 เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 8% แต่มีการปรับค่าแรงเพิ่มถึง 16% ในระยะเวลาเดียวกัน ก็อาจจะดูว่าโอเค แต่ถ้าเรามองลึกลงไปอีกจะเห็นว่าสิ่งจำเป็นต่อการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีนั้นกลับแพงขึ้นมาก ยกตัวอย่างเนื้อหมู 4 ปีที่ผ่านมา ราคาหมูแพงขึ้น 30% ราคาเนื้อไก่แพงขึ้น 20% หรือ ราคาผักบางชนิดแพงขึ้นถึง 70% ซ้ำยังพ่วงเข้าไปด้วยภาระหนี้ต่อครัวเรือนที่สูงขึ้นถึง 47% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากพิษโควิด 19 ที่ทำให้หลายคนตกงาน ทำให้เห็นได้ว่าในชีวิตจริงแล้ว ความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยแย่ลงอย่างน่าสลดใจ แต่กลับถูกเพิกเฉยโดยรัฐ

ส่วนอีกประเด็นที่ทับซ้อนเรื่องของค่าครองชีพดังกล่าวก็คือปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ที่ซ้ำเติมยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าจะยกให้เห็นภาพคือเปรียบเทียบการเติบโตกว่า 31% ของ Real GDP ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าแรงที่โต 18% และเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีที่ขึ้นแค่ครั้งเดียวเพียง 7% และไม่ปรับอีกเลยในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะเดียวกันคนรวยยังรวยขึ้นก้าวกระโดด โดยเฉพาะกลุ่มนายทุน ที่ได้อานิสงส์จากต้นทุนค่าแรงที่โตช้า ส่งผลให้เกิดการฟื้นฟูและเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบ k-shape ตามที่ตนเคยกล่าวไว้เสมอมา (คนรวยยิ่งรวยห่างจากกลุ่มที่อ่อนไหวทางเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ) ดังนั้น จึงเป็นที่มาของนโยบายต่างๆ ที่เราได้นำเสนอ

“หากพรรค พท. ได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท อย่างทันทีภายในปี 67 และภายใน 4 ปีเราตั้งเป้าค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาท รวมถึงเงินเดือนขั้นต่ำของปริญญาตรีที่ 25,000 บาท ซึ่งจากการวิเคราะห์ของเราสามารถทำได้เพราะไม่ได้ปรับทันทีทีเดียว แต่จะค่อยๆ ปรับตามการเติบโตของเศรษฐกิจ เราคาดว่าจะทำให้ GDP โตเฉลี่ยที่ 5% ต่อปี”

นอกจากนี้เราจะเน้นเรื่องการศึกษาเพื่อให้ประชากรของเราได้พัฒนาความรู้ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในบางภาคธุรกิจเช่น ภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตซอฟท์แวร์ ซึ่งทุกวันนี้จ่ายค่าแรงสูงกว่า 600 บาทต่อวัน และ 25,000 บาทต่อเดือนอยู่แล้ว หากเรามีโอกาสได้ดำเนินนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่เราวางไว้ จะเกิดประโยชน์มากมาย เราจะเป็นประเทศที่อยู่ด้วยหลัก ทุนนิยมมีหัวใจ คือ การทำให้เศรษฐกิจโต แต่เป็นการโตทั้งระบบ ไม่เอาเปรียบใคร ทำให้ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมนั้นลดลง เราจะดึงดูดคนให้เข้าสู่ระบบการศึกษาและจบปริญญามากขึ้น เป็นการลดปัญหาสังคม และยังสร้างพนักงานมีคุณภาพให้กับภาคเอกชนด้วย นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยยกระดับส่วนงานภาคราชการซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย

ตนขอยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์เป็นกรณีศึกษา ที่ราชการเป็นอาชีพที่เงินเดือนไม่แพ้ภาคเอกชน ดังนั้น เราต้องมองถึงการทำให้ค่าตอบแทนราชการไทยเหมาะสม และดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงมาทำงาน เพราะที่ผ่านมาตนเชื่อว่ามีคนมีความสามารถมากมายที่อยากจะทำงานราชการ ให้บริการภาคประชาชนอย่างเต็มที่ แต่ติดตรงที่ค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

“ผมอยากชวนให้ทุกท่านมองนโยบายนี้เชื่อมโยงกับนโยบายอื่นๆ ของพรรค พท. โดยเฉพาะเมื่อทำควบคู่กับนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น นโยบายเรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต (Learn to Earn) นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท การเพิ่มนักท่องเที่ยว การจัดตั้งเขตธุรกิจใหม่ เราจะเห็นว่าทุกนโยบายล้วนเป็นฟันเพืองสำคัญที่ทำงานร่วมกัน และจะช่วยเสริมสร้างให้ประเทศมี ศักยภาพที่ดีขึ้น และช่วยยกระดับประเทศตั้งแต่ฐานรากครับ” นายเศรษฐา ระบุ.