เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 2 พ.ค. ที่ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 6 ห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงาน เวที “สงคราม 9 พรรค THE LAST WAR” โดยความร่วมมือ 2 สื่อค่ายยักษ์ใหญ่ “เดลินิวส์ x เครือมติชน” จัดระดม 9 ตัวแทนคนรุ่นใหม่ (Young Blood) เสนอมุมมองสดใสขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต พร้อมด้วยขุนพลขุนศึกตัวตึงและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จาก 9 พรรคการเมืองมาประชันนโยบาย ดีเบตเข้มข้น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพื่อคนไทยทั้งประเทศได้นำไปวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ก่อนไปใช้สิทธิตัดสินใจในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. นี้

บรรยากาศเวที “ขุนศึก ประจัญบาน” ประกอบด้วย ขุนพลขุนศึกตัวตึงและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จาก 9 พรรคการเมืองมาประชันนโยบายดีเบตเข้มข้น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตัวแทนพรรคก้าวไกล, นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย, นายเกียรติ ลัทธีอมร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนพรรคชาติพัฒนากล้า, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ, น.ต.ศิธา ทิวารี ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย และนายวินท์ สุธีรชัย ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เริ่มที่กลุ่มแรกได้แก่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวินท์ สุธีรชัย และ น.ต.ศิธา ทิวารี พร้อมด้วยคำถามการเมืองว่า แนวคิดไล่คน “ชังชาติ” ออกนอกประเทศ พรรคของท่านเห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไร

ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ตนติดตามข่าวตามอินเทอร์เน็ต เวลามีการกล่าวหาว่าใครชังชาติ ชาวเน็ตส่วนใหญ่บอกว่า เขาไม่ได้ชังชาติแต่เขาชังมึง ดังนั้น การที่ไปบอกว่าใครชังชาติเพื่อหาคะแนนเสียงให้ตัวเอง หรือหาเสียงโดยการเหยียบคนอื่นให้ต่ำลง หรือบอกว่าพรรคไหนล้มเจ้า ตนมองว่าไม่ถูกต้องและอย่าใช้วิธีการหาเสียงเช่นนี้

น.ต.ศิธา กล่าวอีกว่า ถ้าประเทศไทยมีประชาธิปไตยแบบประเทศสิงคโปร์ อย่างที่นายวินท์ระบุ ประเทศไทยคงเจริญไปกว่านี้เยอะแล้ว อีกทั้งประชาธิปไตยแบบสิงคโปร์นั้นไม่มีทหาร ไม่ใช้รถถังหรือปืนที่มาจากภาษีประชาชนมายึดอำนาจประชาชน ทุกวันนี้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หรือเป็นประชาธิปไตยแบบลุงลุง แบบที่ยึดอำนาจมาแต่งตั้งองค์กรอิสระของตัวเอง เช่น การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนมาเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน แบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ใครจะมาบอกว่าก้าวข้ามความขัดแย้ง ถ้ายังเสนออีก ตนก็จะก้าวข้ามความขัดแย้งให้ดู

ต่อที่คำถามที่ 2 ใจความเกี่ยวกับเรื่องเงินช่วยเหลือถ้วนหน้า โดย น.ต.ศิธา ระบุว่า เงินช่วยเหลือถ้วนหน้า จำเป็นต้องมี ถือเป็นยาแรงลงไปช่วยพี่น้องประชาชนบท แต่คงแล้วแต่มุมมอง และตนมองว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยสร้างไทย ต่างดีทั้งคู่ เพราะเราคงกระตุ้นชอตเดียวไม่พอ แต่ต้องมีไปเรื่อยๆ แม้พรรคเราเสมือนเป็นการให้น้ำเกลือทีละนิด แต่พรรคเพื่อไทยเหมือนใช้ไฟฟ้าช็อต อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าทุกพรรคการเมืองก็มีนโยบายที่จะทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตนขอฝากไปยังคุณณัฐวุฒิ ด้วยว่า 6 เดือนแรก เป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาท จากนั้นในช่วง 6 เดือนหลัง ขอฝากนโยบายบำนาญประชาชนไว้ด้วย

จากนั้นเข้าสู่คำถามที่ 3 ใจความว่า นโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรูปแบบที่ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นด้วยหรือไม่

น.ต.ศิธา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ปัจจุบันแต่ละจังหวัดมีการเลือกตั้งนายก อบจ. สิ่งที่เราต้องดำเนินการคือทำให้ชัดว่า คนเดียวที่ประชาชนจะเลือกมาและควบคุมทุกหน่วยงานได้หมด แต่ละจังหวัดต้องมีเลือกตั้งอย่างเดียว จะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ หรือนายก อบจ. ก็ได้ ส่วนกลางส่งข้าราชการมาสนับสนุน แต่ไม่ได้ใหญ่สุดในจังหวัด ประชาชนจะต้องเลือกผู้นำของตัวเองได้ และประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณของจังหวัด

น.ต.ศิธา กล่าวว่า นอกจากนี้ ประชาชนจะต้องสามารถ “เลื่อน ลด ปลด ย้าย” และให้คุณ หรือโทษกับนักการเมือง หรือข้าราชการในจังหวัดตัวเองได้ ส่วนที่บอกว่าอาจเป็นปัญหาเพราะมีการซื้อเสียง ตรงนั้นมีปัญหาจริงๆ และจำเป็นที่จะต้องแก้ไข

“ทุนจีนสีเทาที่พูดมา มีทุนไทยสีเขียวหนุนหลังอยู่ เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ ขจัดทั้งขบวนการ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาแน่นอน” นายศิธา กล่าว

น.ต.ศิธา ปิดท้ายในช่วงเก็บตกว่า กระแสกระสุนบ้านใหญ่ นี่คือ 3 ตัวแปรหลัก โดยกระแสคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ในหลายพื้นที่กระสุนกับบ้านใหญ่นั้นมีผลแรงมาก และตนยังจัดกลุ่มนักการเมืองไว้ 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก คือกลุ่มที่มีอุดมการณ์ ส่วนกลุ่มที่สองคือ ใครจะเป็นรัฐบาล กูก็พร้อมไปด้วย ดังนั้น ต้องแก้ระบบให้โปร่งใส จากนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกต้องจะตามมา