ภายหลังสื่อ 2 สำนักใหญ่ร่วมกันจัดทำ โพลเลือกตั้ง 66 “เดลินิวส์ X มติชน” ครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 ซึ่งเริ่มโหวตครั้งที่ 2 วันที่ 22-28 เม.ย. รวมระยะเวลา 7 วัน ทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์ และเว็บไซต์ในเครือมติชน นอกจากนี้ยังโหวตผ่าน ทาง “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนในหนังสือพิมพ์ได้ด้วย ซึ่งในการโหวตครั้งที่ 2 นี้มีประเด็นคำถาม 4 ข้อ ได้แก่ 1.ท่านจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 นี้

 2.ท่านจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) พรรคใด โดยทั้งสองข้อแรก (คำตอบคัดจากรายชื่อ 10 พรรคการเมืองที่ได้รับการโหวตสูงสุด 10 อันดับแรกจากผลโพลรอบแรก) 3.ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี (คำตอบจากรายชื่อจาก 10 แคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับการโหวตสูงสุด 10 อันดับแรกจากโพลรอบแรก) และ 4.ส.ว.ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดหรือไม่

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้มีการจัดเวทีวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66 “ที่เดลินิวส์ มติชน และวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ ร่วมมือกันจัดทำโครงการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ ก่อนเริ่มเวทีทางคณะผู้บริหารเดลินิวส์ นำโดย นางประพิณ รุจิรวงศ์ นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ และนายนต รุจิรวงศ์ เลขานุการกรรมการบริหารฯ 

พร้อมด้วย คณะผู้บริหารบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นำโดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งนักวิชาการ ร่วมเปิดเวทีวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง “เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66”

ทั้งนี้ สำหรับโพลในครั้งนี้มีผู้ร่วมโหวตรวมกันเกือบสองแสนคน ส่งผลให้ผลโพลในครั้งนี้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง สร้างความสั่นสะเทือนในทุกวงการ สำหรับงานวิเคราะห์ผลโพลและตั้ง 66 ในวันนี้ได้มีผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน รวมทั้งมติชนและเดลินิวส์ ที่จะมานั่งวิเคราะห์ผลโพลที่ออกมารวมทั้งภูมิทัศน์การเมืองใหม่ภายหลังการเลือกตั้งจนถึงขั้วรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้น

จากนั้นเริ่มเวทีด้วยการ เสวนา สรุป-วิเคราะห์ ผลการจัดทำ “เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66” โดย นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายปารเมศ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าโพลครั้งนี้สำเร็จเกินคาด โดยช่วงแรกที่ทำจะสังเกตได้ว่าผลโพลของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล มาไกลเกินคาด จึงได้ตั้งข้อสงสัยว่ากลุ่ม NEW GEN ออกมาโหวตให้กับก้าวไกลเยอะมากในการทำโพลครั้งนี้ ตนคิดว่าโพลครั้งนี้จะส่งสัญญาณไปให้นักการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา ในการโหวตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และประชาชนทั่วไป ก็จะได้มีแนวทางการเลือก ส.ส.เขต หรือ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นจุดชี้ว่าประเทศไทยจะไปต่อหรือหยุดอยู่กับที่ วันที่ 14 พ.ค. เราก็จะรู้ผลแล้วว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

“ถ้าดูจากผลโพลและเทรนด์นั้นจะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะเราจะเห็นได้ว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลจะมีคะแนนน้อยกว่า และสิ่งที่เน้นคือการใช้ Digital Marketing เก่งพรรคเหล่านั้นจะได้ประโยชน์เยอะ ส่วนพรรคที่ไม่เก่งในการทำ Marketing ควรไปเร่งเพื่อที่จะรีบทำคะแนนเพราะตอนนี้เป็นช่วงสุดท้าย” นายปารเมศ กล่าว

ขณะที่ นายปราปต์ กล่าวว่า จุดที่หน้าสนใจคือ จุดที่เดลินิวส์ และ มติชน ร่วมมือกันคาดการเพราะผลลัพธ์ของผู้อ่านน่าจะเป็นตัวถ่วงน้ำหนักกัน แต่ที่เซอร์ไพร้ส์คือ ตัวคะแนนออกมาไม่ต่างกันจากตัวเลขที่ส่งเข้ามาให้เราได้เห็นผ่านหลังบ้าน แนวโน้มที่ปรากฏในโพลถือว่าได้รับการยอมรับ

ทั้งนี้ ต้องย้ำจุดยืนของโพลนี้ว่า เราเป็นสื่อและไม่ต้องการทำโพลที่เป็นทางการแบบมืออาชีพ แต่ที่กำลังทำเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่าน และคนดูของทั้ง 2 สื่อสนใจ และอยากมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง และต้องการทราบเจตจำนงทางการเมืองของผู้อ่าน เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ใช้สื่อสารจำนวนมากจึงทำให้เรารับฟังความเห็นของผู้ที่จะเลือกตั้งใหม่ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ทำให้กลายเป็นผลโพลที่ใช้ในการวิเคราะห์ต่อไป

“โพลจะไม่บอกอะไรเรา และตอบเราไม่ชัด แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากโพล และการวิเคราะห์เนื่องจากเราพูดถึงแค่ตัวเลขจากโพล และการคาดการณ์จำนวน ส.ส. สิ่งที่เป็นรูปธรรมอีกหนึ่งอย่างในกระบวนการเลือกตั้งคือภาพมวลชนจำนวนมากที่อยู่หน้าเวทีในระหว่างการปราศรัย และเสียงโห่ เสียงเฮ สิ่งนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เจือปนอยู่ จึงส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งของประชาชน ” นายปราปต์ กล่าว

ด้าน ผศ.อัครพงศ์ กล่าวว่า วิทยาลัยเราได้รับไมตรีจิตรให้ช่วยดูผล พร้อมวิเคราะห์ตัวเลขที่ได้มา สำหรับโพลถ้าตั้งคำถามคือทำไปทำไม แต่ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเป็นการหาการตลาด โดยนักวิชาการส่วนใหญ่ที่ทำโพลนั้นจะเป็นการหาข้อสงสัยต่างๆ จึงได้ทำโพล สิ่งสำคัญในการทำคือต้องตั้งคำถามตามเดลินิวส์ และ มติชน ที่ทำโพลออกมานั้นเป็นการทำในรูปแบบที่สลับกับรูปแบบเก่าที่มีเนื่องจากใช้วิธีให้ได้ผลลัพธ์มาก่อน และหาเหตุผลของกลุ่มตัวอย่างตามหลัง ทั้งนี้ พบว่าการทำแบบนี้ก็สามารถสะท้อนการความเชื่อมั่นได้ถึง 95% จากการคำนวณ และคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.35 % สิ่งสำคัญคือ โพลจะตอบอะไรกับเรากันแน่

หากใครที่สงสัยหรือข้องใจตนคิดว่าสามารถขอข้อมูลการทำโพลของเดลินิวส์ และมติชน เพื่อใช้อ้างอิงได้เนื่องจากพรรคการเมืองหลายๆ พรรคได้มีการทำโพลเพื่อสำรวจของตัวเองเหมือนกัน โพลนี้ทำให้เราเห็นเทรนด์และกระแส เพราะโพลที่ทั้ง 2 ค่ายทำร่วมกันไม่ได้เป็นการสร้างประชาธิปไตย และไม่ได้มีส่วนร่วมในการให้คำตอบว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลเพราะคำตอบนั่นจะอยู่ในวันที่ 14 พ.ค.

“การทำโพล เราต้องดูว่าโพลทำให้เห็นอะไรหรือไม่ เห็นอะไร สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นพรรคการเมืองที่ต้องเอาไปตั้งข้อสังเกต เพื่อหาคำตอบให้กับตนเองหลังจากเห็นผลในการทำโพล”

การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นในหลายด้านและมีผลต่อคะแนนความนิยมทั้งของพรรค และตัวผู้สมัครที่ลงสนามการเมืองในครั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการส่งสัญญาณต่อพรรคการเมือง และความสัมพันธ์ของพรรคการเมืองที่มีต่อประชาชน

“เปรียบการทำงานและการหาเสียงในขณะนี้ของพรรคการเมืองเป็นการขายของ เพราะแต่ละพรรคขณะนี้กำลังเร่งขายทุกอย่างทั้งความชอบ การตอบสนองต่อผู้คนที่มาโหวตให้ตนเอง เพื่อให้ตนได้คะแนนเสียงมากที่สุด อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องของคนหมู่มาก คนหมู่มากจะมาพร้อมกับกระแส”