เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่อาคารมติชน เดลินิวส์และมติชน ร่วมสรุปผลและวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้ง 2566 และวิเคราะห์ผลโพลสู่ผลเลือกตั้ง ฟันธงโค้งสุดท้าย โดยมี นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ ร่วมวิเคราะห์

ด้าน นายธำรงศักดิ์ กล่าวว่า แนวโน้มการเมืองจะเป็นอย่างไรนั้น มันต้องเห็นภาพของการเลือกตั้งก่อน ส่วนเมื่อผลดูโพลเดลินิวส์และมติชน เราเห็นอะไรบ้างนั้น ตนมองย้อนกลับไปว่าโครงสร้างสังคมไทยเป็นอย่างไร ซึ่งเรามีคนที่อยู่ในภาคเกษตร 40% นอกภาคเกษตร 60% ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเป็นหลัก ดังนั้น โพลเดลินิวส์และมติชนจึงเป็นโพลของคนในเมือง มีสัดส่วนภาคเกษตรเพียงน้อยนิด หมายความว่าคนเมืองเป็นคนที่ไม่เอารัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ คสช. เราจะเห็นอย่างชัดเจนจากการแบ่งปีกคะแนนเสียงพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ไม่เอา คสช. ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลหรือสืบทอดอำนาจ คสช. คะแนนตกต่ำมาก หมายถึงคนกำลังบอกว่า “กูไม่เอามึง” เพราะมันอัดอั้นเต็มที่ ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ยากลำบาก คนไม่สามารถแสดงเจตจำนงตัวเองได้อย่างเสรี การเลือกตั้งไทยมีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาตลอดเวลา เป็นการทำลายประชาธิปไตยโดยรากฐาน และนี่คือกลยุทธ์ของฝ่ายรัฐประหาร  

นายธำรงศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้คนต้องการออกจากรัฐประหารเป็นกระแสที่สูง คนตอบจะไปเลือกตั้งสูงมาก จากเดิมที่ลังเล อยู่ 30-40% วันนี้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านคน ถ้าคาดการณ์คนออกไปเลือกตั้งรถน่าจะติดทั่ว กทม. เพราะคนน่าจะไปเลือกตั้งถึง 75-80% ซึ่งสูงมากราว 39-42 ล้านคน ลองคิดถึงว่าตอนนี้เสียง 80% อยู่ฝ่ายปีกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเปลี่ยนประเทศ คะแนนของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมกัน 80-85% ดังนั้นฉากทัศน์ที่เราจะเห็นคือคนเอาไม่เอารัฐบาลเดิมแล้ว ส่วนคนในชนบท ถ้าเราดูว่าจะเลือกใคร ถ้าเป็นภาคอีสาน เหนือ กลาง เลือกแน่คือเพื่อไทย  ถ้าเลือกเพื่อไทยแล้วเลือกก้าวไกลหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยตระหนักเลย คือผู้สมัครของพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่มาตลอดตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2562 เช่นเดียวกับสมัยพรรคเพื่อไทย ในช่วงปี 2541 มาจนถึงการเลือกตั้งในปี 2544 ที่ผู้สมัครเพื่อไทยลงถึงระดับหมู่บ้าน จึงนำสู่การฝังตัวระดับหมู่บ้าน เป็นโมเดลที่ก้าวไกลกำลังทำ ซึ่งก้าวไกลไม่ได้ทิ้งหมู่บ้าน

นายธำรงศักดิ์ กล่าวว่า เราเห็นประชากรภาคเกษตร 40% ประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งเขากำลังแย่งกัน ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทยมีฐานที่ภาคเหนือและอีสานตอนล่าง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เจาะพื้นที่ภาคใต้ ฝ่ายสือทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็พยายามเจาะภาคกลางและภาคใต้ เพื่อไทย ซึ่งพรรคก้าวไกลก็กำลังเจาะป้อมปราการภาคใต้ด้วย วันนี้ภาคเกษตรที่คิดว่าเป็นของฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ถูกแชร์ไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เราคิดว่าก้าวไกลโดดเด่นในออนไลน์ แต่ออฟไลน์สู้ไม่ได้จริงหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงเขาลงพื้นที่ตลอด แต่ในสื่อสาธารณะเราอาจไม่ค่อยเห็น เป็นจุดเด่นที่ก้าวไกลจะได้คะแนนจากคนในชนบทอันดับหนึ่งทีเดียว 

นายธำรงศักดิ์ ยังกล่าวถึงสูตรการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลสูตรนี้ปิดฉาก และจบไปแล้วหรือไม่ว่า ตนขอเล่าเรื่องรัฐบาลเสียงข้างน้อย ในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี  ที่มี 18 เสียง และไม่เอาพรรคโน้นพรรคนี้ จับมือ 2 พรรคเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2517 จะต้องมีการโหวตว่าแนวนโยบายของรัฐบาลจะผ่านหรือไม่ พอโหวต 18 เสียงไม่ผ่านทำให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยล้มไป มีอายุเพียง 1 เดือน ยังไม่ได้ทำงานเลย หากต้องการทำอีกครั้งหนึ่งก็จะมีสถานภาพที่ย่ำแย่ยิ่งกว่านี้ เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยครั้งนี้ต้องใช้ 250 ส.ว. หนุน ซึ่งผลโพล 82.5% ไม่ให้ ส.ว.โหวตตามใจตัวเอง ต้องให้พรรคการเมืองอันดับที่ 1 จัดตั้งรัฐบาล เจตจำนงนี้เวลาประชาชนถูกข้ามหัวคือ ความโกรธที่ประเมินไม่ได้ว่าจะรุนแรงแค่ไหน เราเคยมีพลังประชาชนที่จะพยายามหยุดยั้งทหารในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 และเจออีกครั้ง พฤษภา 35 เวลาพลังประชาชนโกรธจะรื้อโครงสร้างอำนาจทางการเมืองทั้งหมด ดังนั้น ครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งที่ 3 หากมีการสืบทอดอำนาจ คสช. วันนี้คะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่มา ขนาดอยู่ในอำนาจถึง 9 ปี ถ้าตกต่ำขนาดนี้น่าจะคิดถึงคติธรรมทางพุทธศาสนาว่า “พอเถอะ” 

นายธำรงศักดิ์ ยังกล่าวต่อไปว่า ส่วนทฤษฎีตาอยู่จัดรัฐบาลจะเป็นไปได้หรือไม่ หากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยแย่งคะแนนในพื้นที่กันเองนั้น คิดว่าตาอยู่แก่เกินแกงแล้ว ทุกโพลคะแนนของฝ่ายรัฐบาลไม่ขึ้น ส่วนคะแนนไม่ใช่แย่งกันเอง แต่มาจากคะแนนของคนที่ยังไม่ตัดสินใจ เป็นคะแนนของตัวเองที่ชัดเจน ส่วนกลุ่มตาอยู่ที่เคยคิดว่าจะเป็นตาอยู่แต่ไม่อยู่แล้วในฉากทัศน์นี้ ตาอยู่จึงน่าจะกลับบ้านกันไปหมด 

“ผมคิดว่าหมดเวลาของ คสช.แล้ว เพราะเกมนี้เดินทางมาถึง 9 ปี นานมาก อัตราอายุของรัฐบาลจากรัฐประหารเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ปี ตอนนี้เลยเวลาแล้ว อันนี้เป็นเกมของฝ่ายทหารทั้งสิ้น ตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการศึกษาวิทยานิพนธ์พบว่า การยุบพรรคการเมืองที่เราคิดว่าเป็นไปตามกฎหมายนั้น เป็นการทำลายพรรคการเมืองไม่ให้เป็นคู่แข่งของรัฐทหาร พรรคการเมืองเข้มแข็งอำนาจประชาชนก็จะเข้มแข็ง นโยบายนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งพรรคแรกที่ถูกยุบคือพรรคราษฎรจนมาถึงพรรคอนาคตใหม่ โดยในระยะหลังใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เขาออกแบบไว้ แต่ถ้ายุบพรรควันนี้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าการยุบพรรคต่างๆ ในรอบ 20 ปี คือความพยายามไม่ให้การเมืองเข้มแข็ง แต่การยุบพรรคอนาคตใหม่สั่นคลอนทุกอย่าง เวลานี้ฝ่ายรัฐประหารจนเกมตัวเองแล้ว เขาจะทำรัฐประหารอีกเมื่อเขาหมดเครื่องมือ คือ ส.ว. ที่หมดอำนาจในสภา หลังสิ้นสุดยุค พล.อ.เปรม ส.ว.หมดอำนาจ จึงมีการรัฐหารเกิดขึ้น

ส่วนในปี 2567 หลัง ส.ว.ชุดนี้หมดอำนาจจะมีการรัฐประหารหรือไม่ นายธำรงศักดิ์ กล่าวว่า การรัฐประหารในปี 2557 เขาเตรียมการล่วงหน้า 3 ปี เขาคิดรัฐประหารตั้งแต่ในมุ้ง หาเหตุผลข้างทาง และปั่นกระแสให้เฟื่องฟู เป็นเจตจำนงของเขา ซึ่งการรัฐประหารเป็นการเข้าสู่อำนาจที่ง่ายที่สุด แต่ 9 ปีของพวกเขามีต้นทุนที่ต้องจ่าย ทั้งค่าเสื่อมสมรรถนะ ค่าเสื่อมศักดิ์ศรีและบารมี 

ส่วนการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์หรือควรจะเลือกตั้งตามเจตจำนงเสรีของประชาชน นาย ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราตกอยู่ใต้วาทกรรมเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่ชี้นำเราเหมือนกัน แต่พอผลโพลออกมาในช่วงกลางเดือน เม.ย. มันชี้ว่าประชาชนเลือกตามเจตจำนงเสรีของตัวเอง รวมทั้งผลโพลของตนที่นักศึกษาลงไปเก็บข้อมูลใน 53 จังหวัด พบว่าท้องถิ่นที่อยู่ต่างจังหวัดคะแนนเสียงก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้ตนเข้าใจทันทีว่าม็อตโต้ว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ได้แผ่อิทธิพลเป็นกระแสเหมือนคลื่นร้อน ที่ปกคลุมทั่วประเทศไทย แต่พอดีฝนตกลงมา กระแสนี้จึงเปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้เราจึงเห็นว่าการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์มันเหมือนฝนที่สลายไปแล้ว ตอนนี้ตนอยากชี้ว่าทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลต้องเปลี่ยนมอตโตกันใหม่ เป็นเราร่วมกันแลนด์สไลด์ เพราะว่านี่เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย ที่เป็นแลนสไลด์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และตนคิดว่าประชาชนที่เลือกทั้ง 2 พรรคก็มีความนิยมต่อทั้ง 2 พรรค เขาไม่ได้รังเกียจเพียงแต่ว่าตอนนี้แค่คะแนนเสียงของก้าวไกลที่มากกว่า 6 ล้านเสียง มีความหมายว่าประชาชนกำลังยืนยันว่าไม่เอาการรัฐประหาร ต้องการการเผชิญหน้าอย่างเต็มที่ไม่ท้อถอยอีกแล้ว นี่คือเสียงที่เพิ่มขึ้นของก้าวไกล ส่วนเสียงที่เพิ่มขึ้นของเพื่อไทย มีความหมายว่าเราต้องการอยู่ดีกินดี ดังนั้นทั้ง 2 อัน จึงไปด้วยกันไม่ได้แยกกัน และเป็นการแลนด์สไลด์ของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างที่นอนหลับฝันดีได้ 

นายธำรงศักดิ์ ยังกล่าวถึงการจ่ายเงินเพื่อซื้อเสียงว่าจะเป็นการทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกจากผลโพลได้หรือไม่ว่า เชื่อว่าการจ่ายเงินมีผลหรือไม่นั้น ตนเชื่อ เพราะชัยชนะฝ่ายรัฐบาลเป็นเหมือนไพ่ใบสุดท้ายที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ ดังนั้น การจ่ายเงินจะเยอะมาก นักศึกษาตนมาเล่าให้ฟังในบางจังหวัด และบางภาค ที่คิดว่าไม่มีการซื้อเสียง แต่กลับมีการซื้อเสียงที่สูงมาก เพื่อรักษาเสียงและบ้านใหญ่ เพราะหากถูกเจาะบ้านใหญ่ได้ก็ไม่ใหญ่จริง กระแสตอนนี้จึงเป็นกระแสของการจ่าย แต่จ่ายให้ใครนั้น คือคนในภาคนอกเขตเทศบาล  ส่วนในเขตเทศบาลในรอบ 4-5 ปีมานี้ เข้าใกล้ความเป็นคนเมืองในระดับหนึ่ง และเปลี่ยนทรรศนะและการรับรู้ สิ่งหนึ่งทีคนเห็นเจน Z ทำ คือ บังคับพ่อแม่นอกเขตเทศบาลให้เลือกตามที่ตัวเองต้องการ เช่น เลือกก้าวไกลนะ เพราะไม่อยากเกณฑ์ทหาร  เป็นต้น