“ทีมข่าวเดลินิวส์” จึงถือโอกาสสนทนากับ แม่บ้านกกต. “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ในประเด็นการทำหน้าที่ในวันเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้กับใคร

โดย ”เลขาธิการ กกต.” กล่าวเปิดประเด็นว่า วันที่ 14 พ.ค.นี้ กกต.ขอเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ห้มากๆ โดยเตรียมหลักฐานซึ่งเป็นบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยไอดี” ส่วนข้อมูลผู้สมัคร ลำดับการเลือกตั้ง หน่วยการเลือกตั้ง นั้น สามารถดูได้ที่แอปพลิเคชัน “smart vote” ล่วงหน้า ก่อนเข้าคูหาได้เลย หรือจะดูที่หน่วยเลือกตั้งก็ได้ ซึ่งมีการติดประกาศข้อมูลเอาไว้ให้ และพอถึงหน่วยเลือกตั้งจะมีกรรมการประจำหน่วย (กปน.) รด.จิตอาสา และลูกเสืออาสา กกต. คอยอำนวยความสะดวกให้ กระบวนการเลือกตั้งไม่ได้ซับซ้อนอะไร มีการแสดงตนโดยเปิดหน้ากาก เพื่อดูว่าคนที่มาแสดงตนตรงกับบัตรหรือไม่

 @ การเลือกตั้งครั้งนี้ความรุนแรงการแข่งขันกันเหมือนปี 62 หรือไม่

แรงเสียดทานทางการเมืองเยอะกว่าครั้งที่แล้ว แต่เราต้องอยู่นิ่ง อยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งตนได้กำชับสำนักงาน และทีมงาน คือ 1. ต้องเป็นธรรม ทุกคนต้องได้สิทธิ์เท่ากัน ใครแพ้ หรือ ชนะอยู่ที่ประชาชนเลือก ไม่ใช่เอากรรมการเป็นพวก กกต.ต้องสร้างสนามเลือกตั้งที่เป็นธรรม ประชาชนถึงจะรับผลได้ 2. โปร่งใส ประชาชนเห็นด้วยตาได้ บางอย่างไม่เห็นได้ด้วยตาก็ต้องตรวจสอบได้ เช่น คัดแยกบัตร, รวมคะแนน หรือไปรษณีย์ขนบัตร ทุกอย่างมีกระบวนการที่ตรวจสอบได้

3. การมีส่วนร่วม ในวันเลือกตั้งจะมีผู้ปฏิบัติงานกว่าล้านคนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กปน. อย่างน้อย 9 คน เพราะระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต้องแบ่ง 2 กระดานเพื่อนับคะแนน ซึ่งคือชาวบ้านที่ผ่านการอบรมแค่วันเดียวเป็นผู้นับคะแนน ภายใต้แรงกดดันทางการเมือง โดยโอกาสมีความผิดพลาดส่วนบุคคลเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีระบบตรวจสอบ ส่วนเจ้าหน้าที่ กกต.จะคอยให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ  

@ จากสถานการณ์ในขณะนี้ ประเมินว่า จะมีการเลือกตั้งใหม่ประมาณกี่เขต

ช่วงนี้มีคำร้องเข้ามายัง กกต.อยู่ตลอด แต่จะมีมากหลังการเลือกตั้ง ซึ่งต้องดูว่าจะดำเนินการได้ทันภายใน 60 วันหรือไม่ เพื่อให้สามารถประกาศรับรอผลเลือกตั้งได้ ซึ่งต้องประกาศครั้งแรกให้ได้ 95% ก็คือ 475 คน ถึงจะเปิดประชุมสภาได้ แต่ตรงนี้จะพิจารณาทันหรือไม่ ถ้าต้องให้ “ใบส้ม” คือ เลือกตั้งใหม่ คิดว่าอย่างมากจัดเลือกตั้งใหม่ 1 ครั้ง ซึ่งต้องทำให้ทันตามกำหนดเงื่อนเวลา ถือเป็นการกดดัน กกต.แน่นอน ส่วนคนจะมองว่าปล่อยผีเข้าสภาหรือไม่ ก็แล้วแต่จะพูด มันอยู่ที่ข้อเท็จจริง เพราะการพิจารณาต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ต้องมีข้อเท็จจริงพอที่จะเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต ซึ่งมีกระบวนการอยู่ อีกทั้งไม่ว่า กกต.จะให้ใบอะไร ก็ต้องส่งศาล เพื่อตรวจสอบทุกครั้ง จึงต้องใช้เวลา เพราะคดีเลือกตั้งมีความซับซ้อน และเป็นเรื่องของคนมีอำนาจ

@ มีเสียงวิจารณ์ว่า กกต. ทำงานภายใต้ใบสั่งของรัฐบาลชุดนี้ มีมาตรการรับมือหรือสร้างศรัทธาประชาชนอย่างไร

เท่าที่ได้ฟังมา ประชาชนมีความเชื่อนี้อยู่จริง แต่ก็อยากให้ความเป็นธรรมแก่ กกต.ทุกคน แยกเป็น 2 อย่าง อย่างแรกเรื่องการบริหารงานกรรมการจัดการเลือกตั้ง ทางสำนักงานรับผิดชอบเต็มๆ ถ้ามีการผิดพลาดขึ้นมาผมก็ต้องรับผิดชอบ เพราะกรรมการมอบให้ทำแล้ว ถ้าเป็นเรื่องความไม่สุจริตก็เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะวินิจฉัย “ใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม” ถ้าข้อเท็จจริงพยานหลักฐานไม่ครบถ้วนกกต.ก็คงไม่สามารถไปวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม กกต.เองก็ต้องปรับตัว ถ้าอยากให้มีประสิทธิภาพ เรากับท่านเหมือนเหรียญเดียวกัน แต่คนละด้าน ที่ต้องร่วมมือกันทำ สำนักงานเองก็ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการเลือกตั้ง และทำสำนวนชั้นต้นที่จะไปถึง กกต.

“ในส่วนที่สังคมข้องใจ ผมเองไม่เคยได้รับคำสั่งไม่ว่า เป็นในนามของคณะกรรมการ หรือตัวท่านเองสักครั้งเดียว ว่าให้ดูแลเรื่องไหนเป็นพิเศษ ท่านไม่เคยมายุ่งเลย ตั้งแต่ผมดำรงตำแหน่งมา เราก็ทำตามอำนาจหน้าที่ ผมไม่ได้แก้ตัวแทนท่าน ขอรับประกันว่าไม่เป็นอย่างที่สังคมข้องใจ”

@ ช่วงก่อนประกาศผลเลือกตั้งใน 60 วัน มีความเป็นไปได้ที่จะมีคดียุบพรรคหรือไม่

ในทางทฤษฎีเป็นไปได้หมด แต่อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องเลือกตั้งก็ได้ การยุบพรรคเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้มีเรื่องร้องยุบพรรคเข้ามา 80 เรื่อง พิจารณาแล้วยกคำร้องไป 50 เรื่อง เพราะไม่มีเหตุที่จะยุบตามกฎหมาย ก็ต้องยกคำร้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคที่ถูกร้อง แต่พอ กกต.วินิจฉัยฝั่งนี้ไม่ผิด ฝั่งผู้ร้องก็ไปฟ้องหาว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือถ้าวินิจฉัยว่าผิดก็โดนอีก แต่เราไม่หวั่นไหว เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติตามความรู้สึกคน หรือเลือกที่จะให้ใครได้ประโยชน์ คนที่ได้ประโยชน์ก็เพราะเขาทำถูกกฎหมาย ไม่ใช่เพราะ กกต.ชอบก็เลยได้ประโยชน์ แต่การเมืองคือความเชื่อคนเลยติดอยู่ในความเชื่อเขา

ดังนั้น วันที่ 14 พ.ค. เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการกระทำว่า เราเป็นอย่างที่เขาว่าหรือไม่ ที่ผ่านมาเราอาจจะผิดพลาดเรื่องธุรการ กระดาษรายชื่อไม่ครบ บางพรรคหาย ซึ่งตรวจสอบแล้วกว่าครึ่งเป็นการสร้างสถานการณ์ แต่เราก็ไม่อยากมีปัญหา มันไม่ได้กระทบทำให้การเลือกตั้งเสียหาย

@ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กกต. ดองเรื่องไว้ หลังวันที่ 14 พ.ค. เห็นผลการเลือกตั้งแล้วค่อยนำเรื่องนั้นๆ มาเช็กบิลใครทีหลัง

คนข้างนอกคิดได้ทั้งนั้น แต่ผมอยู่ตรงนี้เป็นตัวประสาน ข้างล่างคือ ลูกน้อง ข้างบน คือ เจ้านาย ผมมั่นใจว่าสำนักงานเดินตรงแน่นอน ไม่ผิดแน่นอน เพียงแต่อย่าเอาเรื่องบางอย่างมาปนกัน ตั้งข้อสังเกตได้ อย่างเอกสารแนะนำตัวผิด ซึ่งเราส่งไปแสนกว่าครัวเรือน ผิดไปแค่หนึ่งเขต แต่สังคมจะไปบอกว่าแบบนี้มันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต ทั้งที่เป็นความผิดทางเทคนิค เป็นเรื่องธุรการ แต่กลับเอาไปผูกกับการเลือกตั้งไม่สุจริต แม้มีการแก้ไขแล้วก็ยังเอาไปพูด ซึ่งก็เป็นสิทธิของเขา เราก็ต้องอดทน

“ไม่ว่าประชาชนจะตำหนิ กกต. หรือความผิดพลาดเกิดจากเรา แต่ไม่มีใครอยากถูกตำหนิ เหมือนที่พูดกันว่า กินเงินหลวงแล้วยังทำงานไม่คุ้มเงิน ผมว่าไม่ถูก ผมถึงบอกว่าสิ่งที่สังคมคลางแคลงใจเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนับคะแนน พิมพ์บัตรเกิน การขนบัตร การเก็บบัตร รายงานผล ซึ่งถ้าเราโกงก็คงอยู่เฉยๆ แต่ผมอยู่ตรงนี้เชื่อว่าไม่มีการโกง ก็ต้องหาวิธีชี้แจง”

แต่สิ่งหนึ่งที่พลาดคือเราต้องให้ประชาชนรู้เรื่องการเลือกตั้ง เหมือนเรารู้ เพราะประชาชนไม่รู้ ถึงถูกชักจูงได้ง่าย พอไม่รู้ แต่ไปเห็นอะไรก็เกิดสงสัย ทำให้ต้องตามชี้แจง แต่การชี้แจงทีหลังมันเหมือนการแก้ตัว ดังนั้น ผมจึงบอกเจ้าหน้าที่เสมอว่า ถ้าเราทำให้ประชาชนรู้กติกาเท่าเราก็จะเป็นเกราะป้องตัวเอง พอมีคนบอกว่า กกต.ผิดคนจะรู้เองว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะว่าเขารู้กติกา เทียบกับฟุตบอล คนดูสนุกเพราะรู้กติกา แล้วระหว่างเล่นฟุตบอล 100% อยู่ในสนามที่ทุกคนมองเห็น แต่กับการเลือกตั้งกว่า 70% จะอยู่ใต้ดิน นี่คือความยาก.