เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่พัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี (สำนวนที่ 2) คดีหมายเลขดำที่ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216

กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคนจากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยมีการใช้อิฐตัวหนอน กระถางต้นไม้ ไม้เสาธง และมีดดาบเป็นอาวุธ ในการประทุษร้าย ต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ สำหรับสำนวนคดีที่ 2 นี้ อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2557 ภายหลังจากนายจตุพรซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พ้นสมัยประชุมสภา

คดีนี้เบื้องต้นนายจตุพร จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี แต่ระหว่างการพิจารณานายจตุพร ขอกลับคำให้การเดิมเป็นรับสารภาพ ส่วนนายศราวุธ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด

ในช่วงเช้าวันนี้ นายจตุพร และนายศราวุธ จำเลยทั้งสองพร้อมทนายความ เดินทางมาฟังคำพิพากษา ขณะที่มีผู้ติดตามจำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า ในส่วนของนายจตุพร จำเลยที่ 1 รับฟังข้อเท็จจริงโดยปราศจากข้อสงสัยว่ากระทำผิดตามฟ้องจริง ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิดฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง มาตรา 86 มาตรา 215 วรรคแรก และมาตรา 216 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม ฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อควาวุ่นวายในบ้านเมืองฯ จำคุก 3 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิดต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน จำคุก 1 ปี

นายจตุพร จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และจำคุก 6 เดือน ตามลำดับ

รวมจำคุก นายจตุพร จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 12 เดือน ส่วนนายศราวุธ จำเลย 2 นั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ขับรถกระบะพุ่งชนเจ้าหน้าที่ตำรวจและแผงเหล็กกั้น มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเบิกความว่า ไม่สามารถจดจำใบหน้าผู้กระทำผิดได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้คดี นปช. บุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ สำนวนคดีแรก หมายเลขดำที่ อ.3531/2552 พนักงานอัยการได้ฟ้องแกนนำ นปช.และผู้ชุมนุมรวม 7 ราย ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา

ทั้งนี้ ก่อนเข้าฟังคำพิพากษา นายจตุพร กล่าวว่า ไม่มีความกังวลเพราะยังไงก็จำคุกอยู่แล้ว ในสำนวนแรกสารภาพในชั้นฎีกาซึ่งทำไม่ได้ ตนได้เคยโทรศัพท์ขอกราบอโหสิกรรมกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นี่คือโลกแห่งความเป็นเป็นจริงมนุษย์เรามีทั้งเรื่องที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น คดีนี้จำเลยเหลือ 7 คน แต่ว่าคดีขาดอายุความไป 5 เหลืออยู่ 2 คน รอคดีแรกให้ยุติ ถึงจะพิจารณาสำนวน 2 ตนไม่สู้คดีอยู่แล้ว ยอมรับความจริง น้อมรับคำพิพากษาของศาล และก็จะยื่นอุทธรณ์และใช้หลักทรัพย์เดิม จำนวน 300,000 บาท วันนี้ตนไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด แม้ตนจะมีความไม่เห็นไม่ตรงกับนายทักษิน ชินวัตร ในการหาเสียงที่ผ่านมาตนได้วิจารณ์ทุกฝ่าย ทำหน้าที่ฐานะประชาชนหาทางออกให้บ้านเมือง ตนเคยบอกให้ทุกฝ่ายต้องหลอมรวมกัน ต้องคุยกันไม่งั้นเราจะมาเจอกับด่าน ส.ว. ด่านรัฐธรรมนูญ กับดักมากมาย ให้ทำสัญญาประชาคมร่วมกันทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านจะมีทางออกร่วมกัน จนกระทั่งมีโอกาสที่จะลงเดินท้องถนนกันใหม่ ตนก็ไม่อยากจะเห็น ไม่ต้องการวีรชนเพิ่ม

นายจตุพร กล่าวถึง การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ว่า ต้องยอมรับความเป็นจริงการจัดตั้งรัฐบาล จะ 6 พรรค หรือ 8 พรรค 313 เสียง ก็ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะว่ารัฐธรรมนูญ บัญญัติในช่วงระยะเวลา 5 ปี ต้องใช้ เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา คือ 375 + 1 หรือ 376 แม้ว่าจะมี ส.ว. บางคนรวมด้วยแล้วจะมีตัวเลขถึงจำนวนดังกล่าว ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลแทบจะเป็นศูนย์ ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่ากลไกลักษณะนี้ ถ้าต้องการจัดตั้งรัฐบาล ต้องรอจน สว.หมดอายุ ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ 2567 ณ วันนี้เราเดินมาถึงทางตันของการเมือง ส.ว. โดยส่วนใหญ่ได้แสดงเจตนาที่จะไม่โหวตให้ใคร ทำให้ไม่สามารถมีเสียงถึงจำนวนที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้นี่คือทางตันทางการเมือง แม้จะมีความคิดวิธีอื่น แต่ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ทำยากมากที่สุด คือพรรคร่วม ในจำนวน 8 พรรค ไปจับมือกับอีกฟากหนึ่ง แล้วจะถูกประนามทั้งแผ่นดิน วันนี้ภาวะประเทศถึงทางตันต้องยอมรับความเป็นจริงว่าไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ตนก็หวังไว้แต่มองหาความสำเร็จไม่เจอ หนำซ้ำในช่วง 2 เดือนนี้ยังไม่รู้ว่า กกต. จะลงมือตามคำร้องอย่างไร ไม่ว่าเรื่องคุณสมบัติของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เรื่องการยุบพรรค 5 พรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเป็นหลักกันทั้งสิ้น ยังไม่นับใบแดง เหลือง ส้ม ที่จะมีการแจกกันอีก ดังนั้นจุดชี้ขาดการเมืองตอนนี้อยู่ที่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลแทนได้หรือไม่ นายจตุพร กล่าวว่า ต้องดูว่าพรรคเพื่อไทยจะซื่อสัตย์กับพรรคก้าวไกลหรือไม่ ถ้าพรรคเพื่อไทยซื่อสัตย์จับมือก็จะได้ 313 เสียง วันนี้ที่ สว. พยายามจะส่งเสียงก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ บอกว่าถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยก็พอรับกันได้ แต่ถึงเวลาก็รวมไม่ได้อยู่ดี แต่พรรคร่วมจะ 6 หรือ 8 พรรค ต้องมีความซื่อสัตย์ให้กัน ตนได้บอกนายพิธาว่า วันนี้ให้ลงสัตยาบันกันเสีย ว่าจะไม่ทิ้งไม่แยกจากกัน เพราะยังไม่ได้ลงนามอย่างเป็นทางการ เพียงแค่จับมือ ก็รอสะบัดมือกันได้ตลอดเวลา พวกเก่าเกมการเมืองบอกว่านี่คือละครฉากแรกเท่านั้น ถึงไม่ทรยศต่อกันก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ใช่ว่า ข้ามฝากและทรยศหมู่มิตรโดยอ้างว่า เป็นการทำเพื่อหาทางออกให้ประเทศแต่ความจริงก็เป็นการหาทางออกให้กับตนเอง ตนไม่ต้องการคำว่าเสียสัตย์เพื่อชาติเกิดขึ้นอีก ตนไม่เชื่อว่าพรรคที่ได้เสียงข้างน้อยในปัจจุบันจะกล้าจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะจะเป็นการท้าทายประชาชน ดังนั้น ต่างฝ่ายต่างยืนอยู่ 3 จุดแบบนี้และจัดการไม่ได้บีบกันไปเรื่อยๆ แต่ยังมีจุดชี้ของสถานการณ์ ก็คือ กกต. ในห้วงระยะเวลา 2 เดือนนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนมากมาย

นายจตุพรยังกล่าวทิ้งท้ายว่า มีโอกาสสูงที่จะเกิดการลงถนนหลังจากนี้ ขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังการเคลื่อนไหวให้มากและอย่าปล่อยให้เกิดช่องว่างหรือสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การรัฐประหารได้ อะไรควรทำไม่ควรทำก็ขอให้ระลึกเอาไว้ทุกฝ่าย.