ปิดหีบบัตรเลือกตั้ง จบภารกิจจัดการเลือกตั้ง ในส่วนของ “ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หรือ ศลต.ตร. ซึ่งในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 ที่ผ่านมา รับภารกิจหลักด้านการรักษาความปลอดภัย รักษาความสงบเรียบร้อย บังคับใช้กฎหมาย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร

ปมร้องเรียนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการซื้อเสียง ที่ตำรวจจับกุมได้ ศลต.ตร.ส่งต่อข้อมูลในมือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับไปดำเนินการ ซึ่งก่อนปิดจ๊อบ ศลต.ตร.รายงานพบการซื้อเสียง 8 ราย กระจายทั่วประเทศ มีข้อมูลอินไซด์บางรายเข้าวินเป็นว่าที่ ส.ส. หลังจากรอดู กกต.จัดการ

นาทีนี้สังคมกำลังจับตาการจัดตั้งรัฐบาล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคะแนนเสียงสูงสุดจากพรรคก้าวไกล “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะสามารถจับขั้วเรียกเสียงข้างมากในสภา โหวตนั่งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ 

น่าจับตาหากนายกรัฐมนตรี ชื่อ “พิธา” จากพรรคก้าวไกล จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรตำรวจอย่างไรบ้าง?

ย้อนกลับไปที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ งานนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “สอบผ่าน” ในภารกิจดูแลความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุรุนแรง หรือก่อความวุ่นวาย แม้มีปัญหาการจราจรในวันเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ก็ปรับ แก้ไขสถานการณ์ และวางแผนรับมือในวันเลือกตั้งทั่วไปได้

เบื้องหลังผลงานต้องให้เครดิต “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้นำ กำชับ สั่งการ แต่ติดตามการขับเคลื่อนงานของ “ศลต.ตร.” แบบเกาะติด มอบหมาย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. รับหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ฯ นั่งหัวโต๊ะบัญชาการเกาะติด ขับเคลื่อนตามแผน ปรับแก้สถานการณ์ และเดินหน้าการปฏิบัติเชิงรุก

โจทย์ใหญ่ที่ ศลต.ตร.ได้รับมาก็คือ ทำอย่างไรให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ดูแลบริการประชาชน ให้สอดคล้องกับแนวทางหลักของ กกต.ที่ต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมายตาม

พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษก ศลต.ตร. กล่าวว่า ภายหลังจากได้รับโจทย์จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ศลต.ตร.จัดประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกภาคส่วนเพื่อวางแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานทันที ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ รปภ.ประจำหน่วยเลือกตั้ง, ชุดเคลื่อนที่เร็ว, ชุดสืบสวนหาข่าว, พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการประจำศูนย์ฯ, อำนวยความสะดวกจราจร และสายตรวจเขตฯ โดยบทบสรุปที่ได้ ก็คือ เราวางแผนใช้กำลังพลกว่า 148,000 นาย ในการสนับสนุนภารกิจการจัดการเลือกตั้งในด้านการรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย การอำนวยความสะดวกด้านจราจรทั้งวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. 2566 และวันเลือกตั้งจริง 14 พ.ค. 2566 

“ผบ.ตร. และ ผอ.ศลต.ตร. ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจของ ศลต.ตร.ทุกคนทำงานด้วยความเข้มแข็ง และต้องวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนที่เราวางไว้ ใช้กำลังพลอย่างรัดกุม ชัดเจน สามารถยืดหยุ่นและปรับแผนได้ตามสถานการณ์จริง ให้ทุกฝ่ายเตรียมตัวให้พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา มีการฝึกอบรมให้ความให้ตำรวจทุกนายมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง โดย มี พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศลต.ตร. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี จัดอบรมและทดสอบความรู้ข้อกฎหมายแก่ตำรวจก่อนเริ่มภารกิจ ในขณะที่ผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยก็ต้องลงมาขับเคลื่อนควบคุมการทำงานและให้ขวัญกำลังใจกับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด” โฆษก ศลต.ตร. กล่าว 

สำหรับภารกิจสำคัญๆที่ ศลต.ตร. ได้รับมอบหมายนั้น ประกอบด้วย การรักษาความปลอดภัยในการขนส่งบัตรเลือกตั้งทั้งในและต่างประเทศ การรักษาความปลอดภัยการขนส่งหีบบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วไปยังศูนย์เลือกตั้งฯและการดูแลความปลอดภัยหน่วยเลือกตั้ง 94,737 หน่วยทั่วประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในช่วงวันเลือกตั้งด้วย ซึ่งครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิกันอย่างล้นหลาม  เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย 

ศลต.ตร. ขับเคลื่อนเชิงรุก สืบสวนหาข่าว การเฝ้าระวังพื้นที่เป้าหมายที่เป็นพื้นที่สีแดง พื้นที่ที่มีการแช่งขันกันสูงใน 23 จังหวัด 58 เขต เพื่อสกัดกั้นการกระทำที่ไม่พึงประสงค์ ตลอดจนภารกิจการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งและบทลงโทษหากประชาชนฝ่าฝืนกระทำความผิด ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม  

พล.ต.ท.นิธิธร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศลต.ตร.ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องกฎหมายเลือกตั้งมาโดยตลอด ย้ำเตือนถึงบทลงโทษและเน้นบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดหากมีการฝ่าฝืนกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนี้พบผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง ทั่วประเทศเพียง 42 ราย เป็นการฉีกบัตรเลือกตั้ง 24 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เมาสุรา เข้าใจผิดว่ากาผิดเปลี่ยนบัตรใหม่ได้ มีเพียง 7 ราย ที่อ้างว่า ไม่ต้องการเลือกพรรคการเมืองใดๆ นอกจากนี้มีเหตุถ่ายรูปบัตรเลือกตั้ง 5 ราย นำบัตรออกจากหน่วยเลือกตั้ง 2 รายและจำหน่ายสุราในเวลาห้าม 11 ราย” พล.ต.ท.นิธิธร กล่าว 

อย่างไรก็ตาม แม้การปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการเลือกตั้งของ ศลต.ตร. โดยภาพรวมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่สำนักงานตำรวจ โดย ศลต.ตร.ได้ทำการสรุปบทเรียนการปฏิบัติภารกิจในการเลือกตั้งครั้งนี้เอาไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและกำหนดแผนการปฏิบัติในภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติครั้งต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชน

ผลงาน ศลต.ตร.ทำภารกิจเลือกตั้งครั้งนี้สำเร็จด้วยดี “บิ๊กเด่น” ผบ.ตร. ส่งข้อความผ่านวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอบคุณตำรวจทุกนายทำภารกิจเลือกตั้งสำเร็จลุล่วงด้วยดี ตามครรลองประชาธิปไตยและกฎหมาย

“ตำรวจ” กลไกบังคับใช้กฎหมายในทุกภารกิจ ทุกรัฐบาล ภารกิจจสนับสนุนจัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญผ่านไปด้วยดี หลังจากนี้จับตาการเปลี่ยนแปลง