เมื่อวันที่ 22 พ.ค.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ระบุว่า “ผลการพูดคุยเพื่อจัดทำ MOU ร่วมกันในวันนี้ บรรลุผลไปได้ด้วยดีครับ พรรคก้าวไกลต้องขอขอบคุณหัวหน้าพรรคและแกนนำของทุกพรรคที่เราจะจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยโดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง พรุ่งนี้พวกเราจะแถลง MOU ในเวลาเดียวกันกับการประกาศ รปห เมื่อ 9 ปีก่อน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 พ.ค. พรรคก้าวไกลจะนำพรรคร่วมรัฐบาลแถลงข่าวและลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล เวลา 16.30 น. ที่ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กทม.

ทั้งนี้เฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความในหัวข้อ”ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายใต้รัฐบาลก้าวไกล? MOU คืออะไร?” โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลยืนยันมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ว่าการจัดตั้งและร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองควรต้องเอาวาระหรือนโยบายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่กระทรวงหรือตำแหน่งเป็นตัวตั้ง
ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอันดับหนึ่ง เราได้เดินหน้าเพื่อเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคการเมือง (รวมทั้งหมด 313 คน) ที่เราเชื่อว่ามีอุดมการณ์และมุมมองต่ออนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น ที่สอดคล้องกันในภาพรวม

ในเมื่อรัฐบาลก้าวไกลเป็นรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมือง เราจำเป็นต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างเชิงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น โดยคำนึงถึงความไว้วางใจที่พรรคการเมืองเหล่านี้ได้รับจากประชาชนมาผ่านคูหาเลือกตั้งเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความชัดเจนว่ารัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกลจะผลักดันวาระอะไรบ้าง เราแบ่งวาระออกเป็น 2 ส่วน

1. วาระ “ร่วม” ของทุกพรรคร่วมรัฐบาล (ระบุใน MOU) วาระและนโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน พร้อมผลักดันร่วมกันผ่านกลไกบริหารและนิติบัญญัติ และพร้อมรับผิดชอบร่วมกัน 2. วาระ “เฉพาะ” ของแต่ละพรรคการเมือง (ไม่ถูกระบุใน MOU) วาระและนโยบายที่แต่ละพรรคขับเคลื่อนเอง เพิ่มเติมจาก (แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับ) นโยบายใน MOU ผ่าน 2 กลไกหลัก คือ 1.ผลักดันผ่านกลไกบริหารของกระทรวงที่พรรคมีตัวแทนเป็นรัฐมนตรีเช่น (หากพรรคก้าวไกลบริหารกระทรวงศึกษาธิการ) นโยบายการศึกษานอกเหนือจากใน MOU ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 2. ผลักดันผ่านกลไกนิติบัญญัติของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรค เช่น กฎหมาย 45 ฉบับที่พรรคพร้อมเสนอสู่สภาทันทีที่สภาเปิด ไม่ว่าจะปรากฎอยู่ใน MOU หรือไม่

พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าจะพยายามเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลที่เราสื่อสารกับประชาชนก่อนเลือกตั้งให้สำเร็จ โดยการพยายามบรรจุนโยบายเข้าไปใน วาระ “ร่วม” หรือ MOU ให้ได้เยอะที่สุด ในขณะที่นโยบายอะไรที่ไม่ถูกบรรจุใน MOU เราจะผลักดันต่อผ่านกระทรวงที่พรรคก้าวไกลบริหารและผ่านจำนวนผู้แทนราษฎร 152 คน ที่เรามีในสภาผู้แทนราษฎร

เฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า แม้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลลักษณะนี้อาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวที่อ้างอิงจากหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก จะเป็นกระบวนการที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ในประเทศ ที่ยกระดับความมั่นใจของประชาชนต่อระบบการเมืองไทย และเพิ่มความชัดเจนกับประชาชนว่าในบริบทของรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยนโยบายที่ทั้งมีจุดร่วมและจุดต่างกัน รัฐบาลผสมนี้จะร่วมผลักดันและรับผิดชอบวาระอะไรเพื่อประชาชน ฝากทุกท่านติดตามการแถลงข่าวตั้งรัฐบาลและการเปิดรายละเอียด MOU ที่ทุกพรรคร่วมลงนามกันได้ในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.) เวลา 16.30 น. #รัฐบาลก้าวไกล