ถูกพูดถึงหนักมากสำหรับประเด็นที่นางเอกดังเจ้าของฉายาราชินีนักบู๊ เปิ้ล จารุณี ได้เดินทางมาให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยย้ำจุดยืนของตนเองว่า “เรารักชาติ ไม่ต้องการให้ต่างประเทศเข้ามา ไม่ใช่ว่าพอลืมตาแล้วไม่รู้ว่าเราคือใครกันแน่ โดยไม่ต้องการไปเป็นทาสของสหรัฐ หรือประเทศอื่นๆ เพราะปัจจุบันลำบากอยู่แล้ว เราจะอยู่กันอย่างไรต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เราทำงานอะไรไม่ได้เพราะประเทศไม่ใช่ของเรา” ซึ่งหลังจากมีข่าวออกไป หลายคนก็สนใจและโฟกัสมาที่สาวเปิ้ล และพากันวิจารณ์ในหลากหลายแง่มุมทันที

‘ลุงตู่’ฉุนสื่อจี้ถามปล่อยส.ว.ฟรีโหวต? ‘จารุณี’นางเอกดังบุกให้กำลังใจ

“เดลินิวส์ออนไลน์” จึงไม่พลาดขอเปิดประวัติสาวเปิ้ล นางเอกดังที่มีผลงานมาอย่างมากมายให้ทุกคนรู้จักกัน

จารุณี สุขสวัสดิ์ เกิด 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 ชื่อเล่น เปิ้ล เป็นนักแสดงหญิงลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส ศิลปินและดาวค้างฟ้าตลอดกาล เจ้าของฉายา “ดาราทอง“ “ราชินีจอเงิน“ “ราชินีนักบู๊“ หนึ่งในตำนานนางเอกหนังไทยขวัญใจมหาชน มีบิดาเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อแฟร์น็อง เดส์แน็ช (Fernand Desneiges) และมารดาเป็นชาวไทย ชื่อระเบียบ สุขสวัสดิ์

ก่อนจะเป็นที่รู้จักในวงการบันเทิง จารุณีเคยทำงานในสวนสนุกแฮปปี้แลนด์ (คลองจั่น บางกะปิ) ทำหน้าที่จำหน่ายบัตรผ่านประตูและเครื่องดื่ม บางโอกาสก็แสดงเป็นสโนว์ไวท์ในขบวนพาเหรดของสวนสนุก และยังเคยหารายได้พิเศษด้วยการทำงานรับจ้างเป็นจับกังและคนงานก่อสร้าง เพื่อส่งเสียตนเองให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือและเจียดเงินส่งให้ครอบครัว จารุณี แสดงภาพยนตร์ในสังกัดสีบุญเรืองฟิล์ม เรื่อง “สวัสดีคุณครู” เป็นเรื่องแรก ภายใต้การกำกับการแสดงของบรมครู “พันคำ” เมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยแสดงร่วมกับนางเอกวัยรุ่นอีกคน คือ กาญจนา บุญประเสริฐ และเป็นนางเอกเต็มตัวในภาพยนตร์เรื่องที่สอง “รักแล้วรอหน่อย” (เรื่องเดียวกับ “วนาลี”) คู่กับ สรพงศ์ ชาตรี

พ.ศ. 2523 บ้านทรายทอง กำกับการแสดงโดย รุจน์ รณภพ แห่งบริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ประสบความสำเร็จท่วมท้น ทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 9 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามหาศาลในยุคนั้น ตามด้วย พจมาน สว่างวงศ์ ซึ่งทำรายได้ถล่มทลายไม่แพ้กัน ทำให้ชื่อของจารุณี สุขสวัสดิ์ เป็นที่ต้องการของบรรดาผู้สร้าง ผู้กำกับสายหนังและแฟนภาพยนตร์ไทย จนได้รับสมญานามจากสื่อมวลชนว่าเป็น “ดาราทอง” นอกจากนี้ จารุณียังเป็นนักแสดงจอเงินเพียงผู้เดียวที่สวมบทบาทเป็นทั้ง “ปริศนา” “เจ้าสาวของอานนท์” และ “รัตนาวดี” จากนวนิยายไตรภาค บทประพันธ์ของหม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต หรือ ว.ณ ประมวญมารค รัตนาวดีถือเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายภายใต้การกำกับการแสดงของ รุจน์ รณภพ ที่จารุณีแสดงให้กับบริษัทไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ในฐานะนักแสดงนำหญิง ก่อนที่หลายปีต่อมา จารุณีจะมารับบทเป็นนักแสดงสมทบให้กับบริษัทไฟว์สตาร์อีกครั้งในเรื่อง “บุญชู 8 เพื่อเธอ” ภาพยนตร์ที่จารุณีแสดงโดยเฉพาะในยุคเฟื่องฟูนั้นจะเรียกติดปากโดยอัตโนมัติว่า “หนังจารุณี” ทั้งๆ ที่จารุณีไม่ได้เป็นผู้กำกับการแสดงหรือผู้สร้าง เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นนักแสดงเท่านั้น ภาพยนตร์ที่จารุณีแสดงส่วนใหญ่มักได้รับการพากย์เสียงโดย ดวงดาว จารุจินดา

จากนั้น จารุณีมีงานหลั่งไหลเข้ามามากมายจนได้ชื่อว่าเป็น “นางเอกคิวทอง” สามารถแสดงได้ทุกบทบาททั้งชีวิต บู๊ ตลก แก่น เซี้ยว เปรี้ยว ซน และได้รับความนิยมสูงสุดในยุคนั้น เนื่องจากจารุณีมีรัศมีความเป็นสุดยอดดารา (Superstar) แสดงภาพยนตร์เป็นธรรมชาติ มีฝีมือและเสน่ห์ (charismatic) ในการแสดงที่แพรวพราว หาตัวจับได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าท่าทาง แววตา อารมณ์ และความรู้สึก ภาพยนตร์ของเธอทำเงินทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ฟอร์มเล็ก หรือฟอร์มใหญ่ ถึงขนาดมีการการันตีว่า “ถ้าหนังเรื่องไหนได้จารุณีเป็นนางเอกแล้ว รับรองไม่มีเจ๊งหรือขาดทุนอย่างแน่นอน” แฟนภาพยนตร์เป็นจำนวนมากที่รักและศรัทธาในตัวจารุณีได้ก่อตั้ง “ชมรมสุขสวัสดิ์” ขึ้น เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกัน ถือเป็นแฟนคลับยุคแรกๆ ของศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ยุคที่ยังไม่มีระบบสารสนเทศ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยเหมือนในยุคปัจจุบัน

แม้ว่า จารุณี สุขสวัสดิ์ จะเป็นนักแสดงมืออาชีพที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดขีดระดับตำนานประวัติศาสตร์ “ราชินีหนังไทย” และ “ราชินีจอเงิน” นับจาก เพชรา เชาวราษฎร์ แล้ว ในด้านชีวิตส่วนตัวกลับต้องทำงานหนักตลอดเวลา ไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ และประสบมรสุมชีวิตหนักๆ หลายครั้ง เช่น เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงครั้งแรกขณะขี่เรือหางยาวเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “ลูกสาวกำนัน” จนเกือบเสียชีวิต อุบัติเหตุร้ายแรงครั้งที่สอง ระหว่างเดินทางในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง “บ้านสีดอกรัก” ที่เชียงใหม่ จนเกือบต้องพิการตลอดชีวิต และประสบปัญหาด้านสุขภาพ มีอาการตัวบวมเนื่องจากต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “วันนี้ยังมีรัก” ประกอบกับในช่วงนั้นรายได้และจำนวนการผลิตหนังไทยเริ่มลดลง เป็นผลให้จารุณีต้องหยุดงานภาพยนตร์ไปช่วงระยะเวลาหนึ่งทั้งๆ ที่ยังมีชื่อเสียงอยู่ ในที่สุดจารุณีก็ได้มีโอกาสเข้าสู่วงการละครโทรทัศน์ ผลงานละครโทรทัศน์เรื่องแรก คือ ไฟเสน่หา หลังจากนั้นจึงมีผลงานเพลงกับค่ายคีตา และงานบันเทิงด้านต่างๆ เช่น พิธีกร ละครเวที เป็นต้น โดยเปิ้ลในวงการภาพยนตร์ไทย นางเอกภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงและมีดีกรีความโด่งดังระดับแม่เหล็กของวงการ เรียกว่าเป็นราชินีจอเงินที่ดังเป็นพลุแตกมีอยู่ 2 ท่านเท่านั้น คือ เพชรา เชาวราษฎร์ (2504-2513) และจารุณี สุขสวัสดิ์ (2520-2529) นั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากวิกิพีเดีย